ความมุ่งหวังของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) โดยมีแกนนำรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย มุ่งมั่นจะพาเศรษฐกิจไทยให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หลังจากนี้โตปีละ 5%
จากปัจจุบันเศรษฐกิจไทย 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2566) ขยายตัวเพียง 1.9% และตามการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ประเมินว่าปีนี้ทั้งปี GDP ไทยจะเติบโต 2.5% ส่วนปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7-3.7%
ความมุ่งหวังเศรษฐกิจไทยโตปีละ 5% กับความเป็นจริงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยปริ่มๆ 1% ต่อปี ยังเป็นช่องว่างที่ต้องหาคำตอบว่า รัฐบาลปัจจุบันจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัว ให้คนไทยมีกินมีใช้ อยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีตามที่ได้ป่าวประกาศไว้
#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน (Fabrizio Zarcone) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ในฐานะองค์การด้านเศรษฐกิจระดับโลก และเป็นอีกหน่วยงานที่ติดตามวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้จัดการธนาคารโลก หรือ World Bank ประจำประเทศไทย คนปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า เป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 5% และโตต่อเนื่องในอัตรานี้เป็นเป้าหมายที่หนักแน่นแข็งแกร่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับการพาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง (high income country) ภายในปี 2037 (พ.ศ.2580) จากปัจจุบันเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
“เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งต้องมีคำตอบชัดเจน มีความกล้าหาญ กล้าจะเปลี่ยนแปลง และถ้าประเทศไทยพร้อมจะทำ ผมก็คิดว่าประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้” ฟาบริซิโอ กล่าว
ส่วนวิธีการจะไปถึงเป้าหมายท้าทายดังกล่าว World Bank วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยจะต้องมี Productivity หรือ ผลิตภาพ ประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึง New S-Curve หรือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากเกษตรกรรมดั้งเดิม มาใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพิ่มขึ้น เพราะผลิตภาพในภาคเกษตรของไทยมีประชากรมากถึง 1 ใน 3 ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตร การแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม การจัดการแหล่งน้ำ การสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัย รวมถึงการหาตลาดที่ดีกว่า เพื่มนำผลิตภัณฑ์เกษตรไปขายได้ เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ
“การที่รัฐบาลเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับหลายประเทศในเวลานี้ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปขาย ก็เป็นส่วนหนึ่ง”
ส่วนภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยควรโฟกัส Global Value Chain (ห่วงโซ่มูลค่าโลก) เพื่อให้สินค้าของไทยอยู่ในห่วงโซ่ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ สิ่งสำคัญหากประเทศไทยจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ก็จำเป็นต้องเพิ่มความก้าวหน้าของการผลิต การใช้เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ที่จะจับกับ Global Value Chain ได้
“ยกตัวอย่างประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 5% อย่างเกาหลีใต้ เมื่อไม่กี่ปีก่อนเขาก็อยู่สถานการณ์เดียวกับประเทศไทย และปัจจุบันเกาหลีใต้จัดอยู่ในประเทศรายได้สูง ซึ่งถ้าเป้าหมายประเทศไทยจะโตปีละ 5% ในปี 2037 หรืออีก 3-4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยควรต้องเพิ่มการลงทุนภาครัฐ และให้การลงทุนภาครัฐเป็นหัวจักรนำการลงทุนภาคเอกชน และต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพโดยรวม และนี่คือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และเราควรมีความทะเยอทะยานอย่างหลายๆ ประเทศรอบตัวประเทศไทย” ฟาบริซิโอ กล่าว
ในรายงานเรื่อง “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” ซึ่งธนาคารโลกจัดทำ และเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึง เพิ่มการเก็บภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากอัตราปัจจุบัน 7% เป็น 10% ตามกฎหมาย
โดยมีเหตุผลระบุในรายงานว่า ประเทศไทยมีประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้จาก VAT สูงถึง 85% ของการจัดเก็บที่เป็นไปได้ แต่อัตราการจัดเก็บปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และฐานภาษีค่อนข้างแคบ ซึ่งหากเพิ่มอัตราการจัดเก็บ VAT จาก 7% เป็น 10% ธนาคารโลก คาดว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 1.6% ของ GDP พร้อมกับประเมินว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้มีรายได้สูง
เรื่องนี้ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อย่างที่คุยกันมาตั้งแต่ต้นว่า หากประเทศไทยต้องการก้าวไปข้างหน้า และมีเป้าหมายขยับขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูง การทำตรงนี้ต้องมีทรัพยากร ซึ่งการรักษาอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% แน่นอนทำให้ทุกคนพอใจ แต่สิ่งที่ธนาคารโลกศึกษา และแนะนำว่าควรขึ้นไปเป็น 10% ตามกฎหมายที่มีอยู่ จะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายนั้นได้
“รายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคถือว่าต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 16% ของ GDP ขณะที่ประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 19% ของ GDP และตัวเลขอุดมคติคือควรอยู่ที่ 20-22% ของ GDP”
ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง นอกจากการลงทุนภาครัฐ เพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโต การส่งเสริมการศึกษาขั้นสูงแก่ประชากร การพัฒนาระบบการศึกษา การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากร และแหล่งทรัพยากรสำคัญของประเทศก็คือรายได้ภาษี
เพราะคุณต้องลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันคุณต้องดูแลสังคมสูงวัย และกลุ่มเปราะบาง คุณต้องวางระบบที่ทำให้คนทำงานอายุน้อยๆ ได้เตรียมพร้อมเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม อุตสาหกรรม และบริการสมัยใหม่ ผ่านระบบการศึกษา ดังนั้นการลงทุนด้านการศึกษาจึงสำคัญมาก ซึ่งประเทศไทยมีงบประมาณกับด้านนี้มากก็จริง แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ดีเท่าที่ควร
และนี่คือการวิเคราะห์ และประเมินอนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และเศรษฐา ทวีสิน ในมุมมองของธนาคารโลก.
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ