ปี 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยเริ่มกลับมา แต่สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ปีนี้ถือเป็นปีที่ไม่น่าพิสมัย
เพราะมีทั้งปัญหาปัจจุบันที่รุมเร้า กระทบภาคการผลิตให้ลดลงอย่างรุนแรง และยังมีปัญหาข้างหน้าที่ต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนโยบายการรักษาสภาวะแวดล้อมของโลกตะวันตก เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
ถือว่าไม่เกินเลยไปที่จะบอกว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยวันนี้อยู่ใน “สถานการณ์วิกฤติ”
จนเกิดกระแสข่าวใหญ่การปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย เพราะไม่สามารถสู้กับการทุ่มตลาดอย่างรุนแรงจากเหล็กต่างประเทศ และการต่อสู้กับโรงงานจีนที่ย้ายฐานมาผลิตสินค้าเหล็กในประเทศไทย และส่งผลให้หลายฝ่ายต่างกังวลว่าจะลุกลามขยายตัวยิ่งขึ้น จนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์บุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กมีความเห็นและข้อเสนอทางออกของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเพื่อสู้วิกฤตินี้อย่างไร
“ผมได้ย้ำถึง “วิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก” ของประเทศไทยมาแล้วตั้งแต่กลางปี 2566 จากความต้องการใช้เหล็กของไทยที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยราว 1.0% จากปี 2565 แต่การผลิตเหล็กภายในประเทศลดลงรุนแรงกว่า จากข้อมูลเดือน ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยตกต่ำสุดเหลือเพียง 28.2% เท่านั้น แย่ที่สุดในอาเซียน และถือเป็นระดับวิกฤติ เมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กของโลกเฉลี่ยที่ราว 75%”
สาเหตุหลักๆมาจาก 1.สินค้าเหล็กนำเข้าทุ่มตลาดจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจากจีน เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในจีนแย่ลงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่โรงงานเหล็กจีนกลับเพิ่มปริมาณการผลิตมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี
“ประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายถูกทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากจีนด้วย โดยในปี 2566 การนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมแบบจุ่มร้อน (Hot-Dip Zinc-Aluminium-Magnesium : ZAM) ซึ่งเป็นเหล็กทดแทนจากจีน ที่หลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Hot-Dip Galvanizing : GI) มายังไทย มีแนวโน้มปริมาณมากเกิน 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง 50% จากปี 2565”
2.บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมของจีนที่ได้งานโครงการต่างๆในไทยทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ที่เป็นโครงการ
ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) มักนำเข้าเหล็กจากจีนมาใช้ แทนที่จะใช้เหล็กที่ผลิตในไทย เรายังถูกโรงงานเหล็กจากจีนที่ย้ายฐานมาตั้งในไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดไปอีกมาก โดยโรงงานจีนที่ย้ายฐานจากจีนที่มาตั้งในอาเซียน ขณะนี้มีกำลังการผลิตเหล็กราว 20 ล้านตันต่อปี และล่าสุดโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ซึ่งมีกำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี กำลังจะเริ่มการผลิตในไทย
“หลายโรงงานเหล็กของไทยพยายามต่อสู้และพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรม ก็ทำให้บางโรงงานหมดแรงจนสู้ต่อไม่ไหว ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจ ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และน่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย”
โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เผยแพร่งานวิจัยว่าการผลิตเหล็กในไทยที่หายไป ทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะลดลง 1.2% ขณะที่ทิศทางความต้องการใช้เหล็กของโลก อาเซียน และไทย สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กโลกในปี 2566 เท่ากับ 1,814.5 ล้านตัน เติบโตขึ้น 1.8% จากปีก่อน และปี 2567 จะเพิ่มเป็น 1,849.1 ล้านตัน เติบโตขึ้น 1.9% ความต้องการใช้เหล็กในอาเซียนฟื้นตัวปี 2566 เพิ่ม 3.8%และจะเติบโต 5.2% ในปี 2567 จากความต้องการภายในประเทศดีขึ้นและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับประเทศไทยความต้องการใช้เหล็กในปี 2566 ราว 16.7 ล้านตัน ถดถอย 1.0% ซึ่งแย่กว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตลอดจนกระทรวงเศรษฐกิจ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของประเทศไทยให้มีทิศทางที่เป็นบวกและดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และความต้องการใช้เหล็กกระเตื้องขึ้นไปมากกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งจะดึงการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศให้พ้นวิกฤติได้
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยให้ไปสู่อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Green Steel แต่จำเป็นต้องมีแนวทางมาตรการระยะสั้นถึงกลาง 8 ประการ ที่ขอเสนอต่อรัฐบาลเพื่อช่วยรักษาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยให้สามารถอยู่รอดผ่านวิกฤติไปได้ในช่วงนี้ก่อน
1.ภาครัฐต้องไม่ลังเลที่จะตอบโต้การค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) การตอบโต้การอุดหนุนตลาด (Countervailing Duty) การตอบโต้การเลี่ยงอากรต่างๆ (Circumvention) ตลอดจนแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และทันการยิ่งขึ้น โดยประเมินว่าเหล็กจากประเทศจีนที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ไทยสูญเสียรายได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี
2.เร่งรัดให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) อย่างจริงจังและขยายผล ไม่เพียงแค่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น แต่ให้ส่งเสริมไปถึงโครงการ PPP ด้วย 3.การสงวนเศษเหล็กภายในประเทศสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กของไทย เพื่อลดภาระและปริมาณการนำเข้าเศษเหล็ก ซึ่งปัจจุบันยังต้องพึ่งพิงและนำเข้าเศษเหล็กจากต่างประเทศราว 2 ล้านตันต่อปี
4.เข้มงวดควบคุมเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าปี 2566 มากกว่าปีก่อน 80% ขึ้นไป ตลอดจนการเร่งรัดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กประเภทนี้เพื่อคุ้มครองผู้ใช้
5.การขยายเวลามาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้น เนื่องจากโรงงานประเภทนี้ ในไทยใช้กำลังการผลิตจริงเพียง 28.5% เท่านั้น 6.ห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อน เพราะไทยมีกำลังการผลิตแล้ว 8.9 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านตันต่อปี ทั้งที่ช่วง 5 ปีนี้ มีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจริง 2-3 ล้านตันต่อปี
7.การควบคุมและตรวจสอบให้มั่นใจว่าโรงงานเหล็กที่ย้ายฐานมาจากจีนทำตามกฎหมายต่างๆอย่างถูกต้อง ได้แก่ การผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) การรายงานข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด การจ้างแรงงานต่างด้าว เนื่องจากปัจจุบันมีบางโรงงานน่าสงสัย เสมือนเป็นโรงงานเหล็กสีเทา และ 8. เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้ทันต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ ได้แก่ การปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป (CBAM) โดยต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิต หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันได้
ที่ผ่านมา 10 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย สมาคมโลหะไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมพัฒนาสเตนเลสไทย สมาคมชุบสังกะสีไทย สมาคมหลังคาเหล็กไทย รวม 510 บริษัท มีการจ้างงานโดยตรง 51,000 คน และจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 2 แสนคน ได้หารือกันอย่างเคร่งเครียด และชี้ให้เห็นถึงปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะมาตลอด
เพราะแม้ภาคเอกชนได้ปรับ และพัฒนาในหลายๆด้าน และภาครัฐก็ได้สนับสนุนในหลายมาตรการ แต่ก็ยังไม่ทันการณ์เพื่อตอบโต้ปัญหาเดิมจากการทุ่มตลาดของเหล็กต่างประเทศ รวมถึงการแย่งตลาดจากโรงงานเหล็กจีนที่ย้ายฐานมาไทย แล้วยังมีปัญหาความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตอีกด้วย
นายวิน ได้ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กที่มั่นคง และเริ่มต้นพัฒนาประเทศด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนเงินลงทุนและดอกเบี้ย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การถมทะเลเพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก การวางระบบคมนาคมขนส่ง การจัดระบบส่งกำลังไฟฟ้า และน้ำ เป็นต้น ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเติบโต เข้มแข็ง จะเป็นแกนหรือฐานสำคัญยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ
“อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าความยากลำบากซ้ำซ้อน 2 ชุดใหญ่ คือ ชุดปัญหาปัจจุบัน คือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในมิติต่างๆ และยังมีชุดปัญหาใหม่ คือ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเหล็กไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ”
โดยปัจจุบัน เราเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจากทุนใหญ่จากจีน การกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งความเป็นธรรมจากเหล็กด้อยมาตรฐาน และสินค้าต่างมาตรฐานจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคโครงสร้างต้นทุนพลังงานของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขาดความมั่นคงทางวัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็ก เพราะยังไม่มีโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ และเศษเหล็กในไทยมีไม่เพียงพอ การใช้กำลังการผลิตต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยผลิตยิ่งสูง และภาระหนี้สินจากการลงทุนที่ผ่านมา
ขณะที่ ยังมีชุดปัญหาใหม่ คือ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเหล็กไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีใหม่สำหรับกระบวนการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Steel) การได้มาซึ่งพลังงานสะอาดบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ความขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ความไม่แน่นอนของตลาดว่าจะตอบรับ Green Steel มากน้อยและเร็วช้าแค่ไหน การอุดหนุนและการกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว และภาระการลงทุนรอบใหม่เพื่อการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้
อุตสาหกรรมเหล็กของไทยวันนี้ จึงอาจมีทิศทางไปได้ใน 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ปล่อยไปตามสภาพปัจจุบันที่เสมือนการแข่งขันมั่ว ซึ่งเหล็กไทยยากที่จะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ แนวทางที่ 2 มุ่งพัฒนาเหล็กไทย ตลาดไทย ภายใต้การกำหนดกฎกติกาของไทยโดยเฉพาะ เพื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ การป้องกันทางการค้าไม่เป็นธรรมจากประเทศที่อุดหนุนหรือทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก การมีมาตรฐานเหล็กไทยที่เฉพาะเจาะจง และมีกฎกติกาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม (Segment) สินค้าเหล็ก
แนวทางที่ 3 เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยพัฒนาไปสู้ในเวทีระดับโลกได้ จำเป็นต้องได้รับ การยกเครื่องอย่างเป็นระบบในทุกมิติ โดยมีรัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมหรืออุดหนุนในด้านต่างๆที่จำเป็นจากภาครัฐ การสร้างมาตรฐานสินค้าเหล็กที่เป็นสากล การปรับแก้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารในส่วนของการใช้เหล็กที่เป็นสากล การส่งเสริมโดยปรับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรมโยธาและอื่นๆให้ทันสมัยต่อการใช้โครงสร้างเหล็ก การเปิดเสรีอุตสาหกรรมพลังงาน และการสนับสนุนการลงทุนทางวัตถุดิบจากต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กสมัยใหม่
และที่สำคัญแผนแม่บทอุตสาหกรรมเหล็กไทยควรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ปัญหาการคุกคามรุนแรงจากมหาอำนาจอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจีน โดยมุ่งไปสู่การผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง 4 ภาคส่วน คือ
ภาคที่ 1 ภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกันบริหารกำลังการผลิตในภาพรวม การมีนิยามและเป้าหมายร่วม Green Steel และแผนแม่บทสู่เหล็กสีเขียว การแก้โจทย์ด้านวัตถุดิบ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม 2.ภาครัฐ โดยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาตลาดพลังงาน-ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีรัฐสนับสนุนทางตรงและทางอ้อมในพลังงานทดแทน เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ไฮโดรเจนที่ผลิตโดยพลังงานสะอาด (Green Hydrogen) สร้างกติกาตลาดไทย มาตรฐาน Green Steel มลพิษแฝง อาคารที่ออกแบบและก่อสร้างโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Net Zero Building) ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง
ภาคที่ 3 ภาคธนาคาร และตลาดทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้พลังงานฟอสซิล จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารและตลาดทุนด้านเงินทุน เพื่อนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้ทันท่วงทีกับกติกาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยมีกติกาด้านการเงินและภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Taxonomy) และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) และท้ายที่สุด 4.ภาคลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับตลาดสินค้า Green Steel อย่างจริงจังและแพร่หลาย
โดยหากทุกฝ่ายร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้พ้นวิกฤติได้ในอนาคต.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่าน “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม