เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่ “ประเทศไทย” ยังคงติดกับดัก อยู่ในกลุ่มประเทศ รายได้ปานกลางนิ่งสนิท ก็เพราะ “แรงงาน” ส่วนใหญ่ ยังคงเป็น “แรงงานทักษะขั้นต่ำ”
ขณะข่าวใหญ่ของประเทศไทยวันนี้ หากแต่เป็น รายงานของ PISA Score ที่เป็นการสอบวัดผลทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ของคนทั้งโลกพบ 10 ปีที่ผ่านมา คะแนนของเด็กไทยร่วงในทุกวิชา แย่ลงเรื่อยๆ หล่นมาอยู่อันดับที่ 63 ของโลก ส่วนสิงคโปร์ ล้ำหน้าขึ้นอันดับ 1 ของโลก
ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติทางการศึกษา อย่างน่าเป็นห่วงมากที่สุด หากการอยู่รอดของประเทศในยุคใหม่ เดิมพันการพัฒนาประเทศด้วย “การศึกษา” ของคนในชาติ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาแห่งชาติ และ อดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาชาติฯ ให้ความเห็นว่า ผลประเมิน PISA สะท้อนวิกฤติระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย และคุณภาพการศึกษาของไทย กำลังเดินทางเข้าสู่ภาวะ “ทรุดหนัก”
ซึ่งความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้กลุ่มเด็กดังกล่าว อาจไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูง และการวิจัยด้านต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ
สะท้อนว่า ปัญหาวิกฤติการศึกษานั้น แก้ไขได้ยาก แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมยาวนาน ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานอย่างมาก และลดทอนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาว และอาจทำให้ “เศรษฐกิจไทย” ประสบปัญหาความถดถอยของส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดโลกในอนาคตอีกด้วย
นักวิชาการคนเดิม ยังเผยว่า นอกจากปัญหาวิกฤติคุณภาพการศึกษาแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้ คือ การปิดตัวลงของสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางจากปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก
ปัญหาประชากรเด็กลดลงอย่างมาก เกิดการเลิกจ้างบุคลากรการศึกษาในโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมและมัธยมในสถานศึกษาเอกชน สถานศึกษาเอกชนที่ยังประคับประคองตัวเองไปได้ก็ใช้วิธีลดเงินเดือนบุคลากรลงมาก
ทำให้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบปัญหาทางการเงินและมีหนี้ส่วนบุคคลจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ จึงทำให้มีบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาอ่อนแอลงอย่างมาก ประเทศย่อมอ่อนแอลงและผลกระทบจะยาวนานกว่า วิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติการเมืองใดๆ
“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
ทั้งนี้ เมื่อการศึกษา เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ควรเร่งแก้ปัญหาใน 3 มิติ คือ การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา, คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต และมิติด้านความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ต้องถูกแก้ไข
ด้าน ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) กุมารแพทย์ ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” ชี้ว่า จากรายงาน PISA Score ดังกล่าว กำลังบ่งบอกว่า อนาคตเด็กไทย ในตลาดแรงงานไม่สู้ดี ซึ่งโทษสิ่งใดไม่ได้เลย นอกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาที่เน้นท่องจำ เน้นการสอบแบบคัดออก ไม่เน้นความเข้าใจ
อะไรที่บอกว่า อนาคตของเด็กไทย ในตลาดแรงงานอาจไม่สู้ดี นั้น ก็เพราะว่า โลกทุกวันนี้ ผู้คนเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น ตลาดแรงงานขณะนี้ ไม่ได้แข่งขันกันแค่ในประเทศเท่านั้น ถ้าบริษัทหนึ่ง ต้องการจ้างงานสักตำแหน่ง เขาก็ต้องการคนที่เก่งพอสำหรับตำแหน่งนั้น
อาจเห็นภาพ การไปจ้างคนมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ มากกว่าคนไทย เพราะต้องการ คนเก่ง และคนที่มีความพร้อมกว่า นั่นอาจหมายถึง เด็กไทยในอนาคตอาจตกงานมากขึ้น เพราะระบบการศึกษาของไทย ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้นายจ้างเลยว่าเราเก่งพอ
ขณะฝั่งประเทศตะวันตกหลายประเทศก็เริ่มเห็นการถดถอยของ PISA Score เช่นกัน ขณะที่ประเทศฝั่งเอเชียทำได้โดดเด่นมาก เช่น สิงค์โปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเก๊า โดยบางประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ก็ต้องแลกมาด้วยระบบการศึกษาที่เครียดมาก แข่งขันมากเช่นกัน แต่ได้ผลลัพธ์ที่คนมีคุณภาพสูง ประเด็นนี้ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
“ตลกร้ายอีกอย่างก็คือ ค่า SD หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของความสามารถทางคณิศาสตร์ของเด็กไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคะแนนคณิศาสตร์ก็ต่ำด้วย นั่นแสดงว่า ไม่มีใครถูกทิ้งอยู่ข้างหลังเลย … คือ คะแนนแย่ไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศ เกาะกลุ่มกันดี ในขณะที่มาเก๊า เกาหลี คะแนนดีมาก แต่มี SD สูง แสดงว่า เป็นสังคมที่มีคนที่มีความสามารถสูงเยอะ โดดเด่น คงถึงเวลาที่การศึกษาไทยต้องปฏิรูปได้แล้ว เพราะถ้าคุณภาพคนไม่ดีพอ ไม่พร้อม อนาคตชาติคงลำบาก”