นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.66 ว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่คึกคัก เป็นลักษณะซึมทั้งประเทศ เพราะกังวลการเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังสูง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้า และรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง “ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจน่ากังวล เพราะดัชนีความเชื่อมั่นที่สำรวจความเห็นภาคธุรกิจเดือน พ.ย.66 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีรายได้ในอนาคตยังไม่ดี เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจซึม มีหลายอย่างบ่งชี้ว่าเงินกำลังฝืด รัฐต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ยังคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 3-3.5% ประเมินไว้ที่ 3% ต้นๆ หากการลงทุน การท่องเที่ยวเป็นไปตามคาด และการเบิกจ่ายของรัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 67 เดินตามกรอบได้ จะทำให้เศรษฐกิจโตกว่าที่คาดไว้”
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.66 ปรับตัวจาก 60.2 ในเดือน ต.ค.66 มาที่ 60.9 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 45 เดือนนับจาก มี.ค.63 ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน ดีขึ้นจาก 44.0 มาที่ 44.6 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ดีขึ้นจาก 68.0 มาอยู่ที่ 68.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 จาก 54.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 57.6 จาก 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 69.9 โดยทั้งหมดดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้หลังตั้งรัฐบาล.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่