World Bank แนะวิธีลดเหลื่อมล้ำ เผยหลังโควิด-19 ไทยติดอันดับ 13 ประเทศรายได้ไม่เสมอภาค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

World Bank แนะวิธีลดเหลื่อมล้ำ เผยหลังโควิด-19 ไทยติดอันดับ 13 ประเทศรายได้ไม่เสมอภาค

Date Time: 30 พ.ย. 2566 07:01 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • World Bank เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำ และงานในประเทศไทย พบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยลดช่องว่างคนรวยสุด และจนสุดได้ดีมาก แต่มาสะดุดหลังโควิด-19 ส่งผลให้ความไม่เสมอภาคของรายได้ไทยติดอันดับ 13 ของโลก และช่องว่างการศึกษา และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ทวีความรุนแรงขึ้น แนะประเทศไทย การเพิ่มทักษะแรงงาน ปรับปรุงการศึกษาให้เน้นความสามารถด้านดิจิทัล เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

Latest


ธนาคารโลก หรือ World Bank เผยแพร่รายงาน “ปิดช่องว่าง : ความเหลื่อมล้ำและงานในประเทศไทย” ฉบับล่าสุด พบว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุด และยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา 


โดยเฉพาะในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค หรือ Gini coefficient ของรายได้ ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และอยู่อันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่มีการรายงานค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคของรายได้ 

อีกทั้งยังมีการกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุด สูงเป็นพิเศษ โดยพบว่า 10% คนไทยที่ร่ำรวยที่สุดถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าคนครึ่งหนึ่งของประเทศ ในปี 2564


นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความแตกต่างด้านโอกาสทางการศึกษา และทักษะ เกษตรกรมีรายได้ต่ำ ท่ามกลางสถานการณ์ประชากรสูงวัย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย 


แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อความยากจน และความเหลื่อมล้ำจะค่อนข้างน้อย แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ช่องว่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ และปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้น


ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามลดความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น


ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างภูมิภาค และระหว่างชุมชนภายในภูมิภาค มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำโดยรวมในประเทศไทย 


ดังนั้น ต้องทำให้มั่นใจก่อนว่านโยบายที่กำหนดขึ้นมาสามารถสนับสนุนกลุ่มเปราะบางได้อย่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น


จากรายงานยังพบว่า ในปี 2563 รายได้เฉลี่ยในกรุงเทพฯ มี GDP ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ หรือคิดเป็นมากกว่า 6.5 เท่า ของรายได้เฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุด  


และการกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในระดับภูมิภาคของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคำแนะนำคือการเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระดับภูมิภาคให้เกิดความสมดุล 


อีกประการคือ ช่องว่างทางการศึกษา และความแตกต่างทางอาชีพเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะการเข้าเรียนสูงเกือบจะเท่ามาตรฐานสากลในระดับปฐมศึกษา แต่กลับตกลงในระดับช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยพบว่า ประมาณ 8% ของเด็กผู้หญิงอายุ 15-17 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่กลุ่มเด็กผู้ชายในวัยดังกล่าวพุ่งสูงถึง 17%


รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่ง โดยพบว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 51.5% ระหว่างปี 2562-2564 เนื่องจากการกู้ยืมเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ช่วงโควิด-19


นาเดีย เบลฮัจ ฮัสซีน เบลกิธ นักเศรษฐศาสตร์ ด้านความยากจนของธนาคารโลก ในฐานะหัวหน้าทีมการศึกษารายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนโรงเรียนในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน และจัดให้มีโปรแกรมการฟื้นฟูการเรียนรู้ การเสริมสร้างโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคม และการให้ความช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า จะช่วยเพิ่มศักยภาพของการให้ความช่วยเหลือที่มีอยู่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนยากจน 

ด้านดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า ประเด็นความเหลื่อมล้ำอยู่กับประเทศไทยมาตลอด และหน่วยก็ได้ปรับปรุงตัวชี้วัด การวิธีวิเคราะห์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อให้แก้ปัญหาตรงเป้า โดย สศช.มีการปรับปรุงเส้นความยากจนทุก 10 ปี และประเมินความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยนำข้อมูลภาษีมาพิจารณาด้วย 


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของไทยที่ผ่านมา สัดส่วนคนจนไทยลดลงอย่างรวดเร็ว แต่มีความผันผวน แม้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งสะท้อนแนวโน้มว่าคนจนปัจจุบันมีปัญหาความยากจนเรื้อรัง อยู่ในกับดักความยากจนต่อเนื่อง และมีความยากจนข้ามรุ่น ส่งต่อถึงลูกหลาน


ส่วนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ต้องหาโอกาสสร้างอาชีพและรายได้ โดยการออกแบบนโยบายต้องนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อขับเคลื่อนปัญหาให้ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม


วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า แม่ฮ่องสอน ตาก ปัตตานี คือกลุ่มจังหวัดที่มีคนจนสูงสุด ขณะที่ รายได้ของคนรวยสุดคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาท/คน/เดือน แต่คนจนสุดในประเทศมีรายได้อยู่ที่ 400 บาท/คน/เดือน หรือห่างกัน 8.2 เท่า และเมื่อพิจารณาด้านการศีกษาพบว่า โอกาสทางการศึกษาของคนรวยสุดกับคนจนสุดห่างกัน 8.1 เท่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ