“หนี้นอกระบบ“ ล้น 3.48 ล้านล้าน แก้จน-แก้หนี้ นักวิชาการแนะ 29 พ.ย. หยุดขึ้น “ดอกเบี้ยนโยบาย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“หนี้นอกระบบ“ ล้น 3.48 ล้านล้าน แก้จน-แก้หนี้ นักวิชาการแนะ 29 พ.ย. หยุดขึ้น “ดอกเบี้ยนโยบาย”

Date Time: 27 พ.ย. 2566 10:43 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • นักวิชาการห่วง 3 มิติ “วิกฤติหนี้” ประเทศไทย กดทับทิศทางเศรษฐกิจปีหน้า พบหนี้เงินกู้นอกระบบล้น 3.48 ล้านล้าน แก้จน-แก้หนี้ วาระแห่งชาติ ที่การหยุดขึ้น “ดอกเบี้ยนโยบาย” อาจช่วยทุเลาได้

Latest


29 พ.ย. 2566 คือวันประชุม กนง. หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งชาติ ครั้งสุดท้ายของปี เพื่อสรุปจบ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ปี 2566 ว่าจะหยุดที่ 2.50% หรือ กนง. ยังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากขึ้นมาแล้ว 8 ครั้งติดต่อกัน 

ทำให้ดอกเบี้ยไทย ณ ปัจจุบัน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่อาจมีความเสี่ยงสูงอยู่ รวมถึงปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” ที่กำลังย่างสู่คำว่า วิกฤติ ขณะรัฐบาลกำลังหาทางแก้ไข เตรียมประกาศมาตรการแก้หนี้ครั้งใหญ่ในวันพรุ่งนี้ 

ล่าสุด รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองและแสดงความกังวลต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยเตือนว่าปีหน้า “เศรษฐกิจไทย” อาจทับกดทับด้วยวิกฤติหนี้สิน และอาจได้เห็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้รุนแรงขึ้นได้ โดย 1 ในทางออก รัฐอาจต้องเร่งปรับโครงสร้างทางการเงิน และหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง! ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของเอเชีย

เจาะข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับจีดีพีในไตรมาส 2 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 86.3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก แต่หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP เป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น 

พบยอดหนี้คงค้างยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 แสนล้านบาทจากไตรมาสแรก และพบว่า หนี้เฉลี่ยรายบุคคลอยู่ที่ 231,818 บาทต่อคน หนี้ครัวเรือนของชาวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 546,428 แสนบาทต่อครัวเรือน

  • หนี้ในระบบประมาณ 59-60%
  • หนี้นอกระบบ 39-40%

ชาวไทยในวัยทำงานอายุไม่เกิน 35 ปี มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 25,000-27,000 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยแต่ละเดือนเกือบเท่ากับรายได้ จึงไม่มีเงินออม 

ประเทศไทยจึงมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และ อยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ขณะเดียวกัน คนไทยมีหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยท่านละ 168,430 บาท จะเห็นได้ว่าชาวไทยมีภาระหนี้สินส่วนครัวเรือนรวมหนี้สาธารณะอยู่ที่ท่านละ 400,248 บาท

หวั่นปัญหาผิดนัดหนี้ กดทับเศรษฐกิจปีหน้า 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ระดับ 86.3% ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ก่อหนี้เกินตัว บวกกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับ 62.14% (ณ เดือนกันยายน 2566) คิดเป็นมูลค่าหนี้สาธารณะ 11.13 ล้านล้านบาท หนี้ทั้งสามมิตินี้ อันประกอบไปด้วย หนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน หนี้สาธารณะ อาจจะกดทับต่ออัตราการขยายเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้

หากดอกเบี้ยภายในประเทศยังปรับตัวในทิศทางขาขึ้นต่อไป ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 20% คิดเป็น 3.48 ล้านล้านบาท การดำเนินมาตรการและนโยบายกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบดูเหมือนเป็นความพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภาวะดอกเบี้ยลอยตัว แต่ได้สร้างปัญหาให้กับครัวเรือนและประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 

เนื่องจากสถาบันการเงินในระบบไม่ยอมปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ให้กับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยอัตราดอกเบี้ยเพดานตามที่ทางการกำหนด การแก้ปัญหาการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไปของสถาบันการเงินในระบบ แก้ด้วยการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่กำหนดเพดานทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่สะท้อนความเสี่ยงของผู้กู้ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบจึงกลายเป็นการผลักหนี้นอกระบบเพิ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ 

“รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างทางการเงิน ผ่อนคลายมาตรการการเงินเพิ่มเติม ลดอัตราเงินสดสำรอง ผ่อนเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้เสีย และหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”

เป็นหนี้เพราะวิกฤติเศรษฐกิจ แบงก์บีบ กู้เงินนอกระบบ 

ทั้งนี้ นักวิชาการคนเดิม ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องการเป็นหนี้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการไม่มีวินัยทางการเงิน หรือก่อหนี้เกินตัว แต่เป็นเรื่องของการว่างงานและรายได้ลดลงมากกว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิดและมีผลกระทบต่อเนื่องมา 

ขณะนี้สถานการณ์การว่างงานดีขึ้นอย่างชัดเจน อัตราการว่างงานต่ำมาก และหลายกิจการเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่รายได้จากการจ้างงานยังไม่ปรับเพิ่มมากนัก ส่วนการปรับลดเพดานดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยง สถาบันการเงินก็จะไม่ปล่อยกู้ เท่ากับผลักให้ผู้มีรายได้น้อยและฐานะการเงินอ่อนแอต้องไปกู้นอกระบบแทน  


เตือนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จะรุนแรงขึ้นจากโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้เพิ่มเล็กน้อย และฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับรายจ่าย รวมทั้งยังมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่โดยภาพรวมยังทรงตัว  

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ