นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว. คลัง เปิดเผยว่าได้มีโอกาสหารือกับผู้ประกอบการค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศและได้พูดคุยปัญหาเรื่องของข้าว วันนี้ปัญหาข้าวไทยผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่เยอะมาก หนึ่งในเหตุผลคือ ข้าวไทยที่มีการพัฒนาช้าได้รับการรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวที่ล่าช้า ทำให้เรานำข้าวมาปลูกได้ช้า จึงได้สั่งการไปยัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขานรับอย่างดีว่า จะไปดูแลในเรื่องขั้นตอนในการขอพันธุ์ข้าว เพื่อให้เรามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลข้าวที่ดีและสูงขึ้น เพื่อให้เท่าเทียมกับเพื่อนบ้านเราได้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและคู่แข่งในเอเชีย ไทยแทบจะมีผลผลิตรั้งท้าย แพ้แม้กระทั่งผลผลิตต่อไร่ของกัมพูชา ลาว เวียดนาม ไม่ต้องพูดถึง เรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการข้าวได้สะท้อนว่ากระทรวงเกษตรฯที่มีกรมการข้าวที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย ทำไมไม่ค่อยมีพันธุ์ข้าวดีๆออกมาแนะนำให้เกษตรกรไทยปลูก ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า ฤดูกาลผลิตหน้า ในปี 2567 กรมการข้าวเตรียมนำพันธุ์ข้าวที่มีการวิจัยและพัฒนาไว้ออกมาให้ชาวนาใช้ โดยพันธุ์ใหม่ที่จะออกสู่ตลาดเป็นพันธุ์ที่จะสามารถตอบสนองได้ทั้งในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ และราคาได้แน่นอน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือไม่เห็นด้วยกับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321 ล้านบาท หรือจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ที่ ครม.เห็นชอบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้วราคาข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกหอมมะลิ ในฤดูที่แล้วราคาไม่ดี รัฐบาลที่แล้วใช้เงินอุดหนุนช่วยชาวนาไปทั้งหมดผ่านมาตรการประกันรายได้เกษตรกร เกือบ 150,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 80,000 ล้านบาทใช้เพื่อประกันรายได้จากราคาข้าวเปลือก และมีการให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเช่นเดียวกับครั้งนี้
ดังนั้น หนังสือแสดงความเห็นจาก ธปท.ที่บอกความจำเป็นน้อย เพราะปีนี้ข้าวเปลือกราคาดี ต้องบอกว่าเงินที่ชาวนาได้ในการขายข้าวเปลือกปีนี้ แม้ว่าจะสูงกว่าในปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วชาวนาได้เงินอุดหนุนจากการประกันราคาด้วย ทำให้เงินที่ชาวนาได้ปีที่แล้วกับปีนี้พอๆกัน และปีนี้แย่กว่าคือตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.เป็นช่วงข้าวเปลือกหอมมะลิกำลังจะออกสู่ตลาด และแม้ราคาพอๆกับปีที่แล้วแต่เวลารับซื้อจริงข้าวของชาวนาจะมีความชื้น 25% ขายได้ตันละ 10,800 บาท ไม่เหมือนความชื้น 15% ที่รับซื้อในราคาตันละ 14,000-15,000 บาท และในปีนี้เงินที่อุดหนุนคุณภาพข้าวเท่ากับปีที่แล้ว ในปีนี้ไม่มีเงินประกันรายได้ชาวนาเช่นปีก่อน รวมเงินที่รัฐช่วยชาวนาน้อยกว่าปีที่แล้วกว่าครึ่ง
ส่วนต้นทุนการผลิตที่ ธปท.ระบุว่าต่ำลงก็ไม่ใช่ เพราะปุ๋ยที่ชาวนาใช้ ค่าพลังงานต่างๆ ต้นทุนไม่ถูกลง สูงขึ้นเล็กน้อย หนังสือของ ธปท.จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขอเรียนว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับชาวนา ข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์จะละเอียดลึกซึ้งกว่า และที่แปลกใจมากๆคือ เมื่อปีที่แล้วรัฐอุดหนุนช่วยชาวนาใช้เงินกว่า 150,000 ล้านบาท ในปีนี้ชาวนาขายข้าวเปลือกบวกเงินอุดหนุน ได้รับเงินพอๆกับปีที่แล้ว ปีที่แล้วก็มีโครงการให้เงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาทแบบปีนี้ แต่ปีที่แล้ว ธปท.ไม่มีความเห็น ไม่ได้ท้วงติง ไม่ได้มีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้งว่าไม่ควรทำ
“เรื่องนี้เป็นนโยบายทางการคลัง เป็นความรับผิดชอบรัฐบาลที่จะดูแลความเป็นอยู่รายได้ทางเศรษฐกิจของพี่น้องชาวนา ส่วนความเห็นของ ธปท.เราน้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่แบ่งกันทำ ธปท.ดูแลด้านการเงิน ถ้าจะมีหนังสือท้วงติงหรือแสดงความเห็น เช่น ดอกเบี้ยคิดคืนจะเป็นเท่าไหร่ ระยะเวลาคืนเงินต้นควรจะเป็นเท่าไหร่ หลักประกันความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้ชาวนาควรเป็นอย่างไร จะเป็นบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ฉะนั้นเรื่องอื่นที่นอกเหนือประเด็นทางการเงินขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลลึกซึ้งแม่นยำกว่าเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจน่าจะดีกว่า”
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่