ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ได้เห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท หรือ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ปรากฏว่าในเรื่องดังกล่าวนางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะแทนผู้ว่าการ ธปท.ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ ธปท.ฝศม. 806/2566 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.เรื่องมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 ก่อนการประชุม ครม. 1 วัน ตามที่สำนักเลขาธิการ ครม.ทำหนังสือสอบถามไป
โดย ธปท.มีความเห็นว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวสูงขึ้นมาก และราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่องนอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการได้ผลสัมฤทธิ์ที่สามารถยกระดับการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าวได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยลดภาระทางการคลังในอนาคต ควรกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการติดตามและประเมินผลโครงการ พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน และควรมีแนวทางป้องกันปัญหา Moral hazard หรือภาวะภัยทางศีลธรรม จากที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน อีกทั้งควรกำหนดกรอบเวลาการชำระคืนเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาด้านสภาพคล่องในอนาคต
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. ได้รับทราบและดำเนินการ ตามมติ ครม. สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท วงเงินรวม 56,000 ล้านบาท โดยคาดว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการจ่ายเงินในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากต้องทำตามระเบียบขั้นตอนให้ถูกต้อง นอกจากนี้ บอร์ด ธ.ก.ส.ได้รับทราบโครงการสินเชื่อชะลอการขาย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน ทั้งนี้เกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเองจะได้รับเต็มจำนวน สถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเข้าโครงการได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตัน มีเป้าหมายจัดเก็บที่ 3 ล้านตัน
สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงินรวม 690 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อเกษตรกรไม่เกิน 230,000 บาทต่อราย ที่อัตราดอกเบี้ย MRR- 3% โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 วงเงิน 500 ล้านบาท รวมผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 เป้าหมาย วงเงินกู้ 1,000 ล้านบาท รวมผลผลิต 100,000 ตัน โดยสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ผู้รับซื้อจะรับภาระดอกเบี้ย 1% และรัฐบาล 3.85%
ส่วนโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) ไม่เกินรายละ 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกในอัตรา 1% ต่อปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 20 ปี ยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2567 นอกจากนี้ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิต ธ.ก.ส.จะยกหนี้ทั้งหมด ส่วนกรณีเดินทางกลับไทยแต่ยังมีหนี้เดิมคงค้างจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ขยายเป็นชำระ 3 ปี คิดดอกเบี้ย 0.01% ปลอดชำระหนี้เงินต้น 1 ปี.