รู้จัก “แลนด์บริดจ์” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน อภิมหาโปรเจกต์ 1 ล้านล้าน คนไทยได้-เสีย อย่างไร?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    รู้จัก “แลนด์บริดจ์” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน อภิมหาโปรเจกต์ 1 ล้านล้าน คนไทยได้-เสีย อย่างไร?

    Date Time: 17 พ.ย. 2566 15:12 น.

    Video

    3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

    Summary

    • รู้จักโครงการ “แลนด์บริดจ์” (Landbridge) เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน อภิมหาโปรเจกต์ 1 ล้านล้าน เรียกต่างชาติลงทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลต้องบาลานซ์ ชวนเปิดความสำคัญของแลนด์บริดจ์ และ 5 เหตุผลที่คนในพื้นที่ต่อต้าน

    Latest


    รัฐบาลกำลังเดินหน้าพลิกโฉมการค้าโลก และขายโครงการแม่เหล็กใหม่ให้แก่นักลงทุนต่างชาติทั่วโลก ภายใต้เมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “แลนด์บริดจ์” (Landbridge) 

    โครงการชื่อคุ้นหูตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน ที่มีเป้าหมายเพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน 

    โดยคาดว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จ จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เกิดการลงทุนและจ้างงานตามมาไม่รู้จบ เมื่อไทยเป็นจุดผ่านเส้นทางการเดินเรือขนส่งของโลกที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็มาพร้อมกับความกังวลในแง่วิถีชีวิตของคนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม ที่คงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ

    ทำความรู้จักโครงการ Landbridge (แลนด์บริดจ์)

    ล่าสุด หลัง 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ครม. อนุมัติหลักการโครงการแลนด์บริดจ์ อีกทั้ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศกลางเวทีโลกการประชุมเอเปก 2023 ว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรับการลงทุนจากทุกชาติและทุกรูปแบบ โดยชูว่ารัฐบาลกำลังผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเล เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะทำให้ไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสการลงทุนสำหรับต่างชาติ ที่หาจากไหนไม่ได้ 

    “โครงการ Landbridge (แลนด์บริดจ์) จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางเรือเส้นใหม่ของโลก แก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกาที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า การขนส่งสินค้าผ่าน Landbridge จะช่วยลดเวลาการเดินทางโดยรวมได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15% ซึ่งในอนาคตจะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่งสู่ตลาดโลก” เศรษฐา ทวีสิน กล่าว 

    เจาะไทม์ไลน์ และรายละเอียด โครงการแลนด์บริดจ์ 

    ขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษารายละเอียดและเตรียมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอวาระเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งคาดจะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2567 และจะเริ่มประมูลงานลงทุนรูปแบบ PPP ในช่วง เม.ย. ปี 2568 พร้อมเริ่มใช้เส้นทางใหม่แลนด์บริดจ์ ช่วงปี 2572 เป็นต้นไป 

    ข้อมูลสรุปจาก BOI สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุให้เห็นภาพ ว่า ทำไมโครงการแลนด์บริดจ์ถึงสำคัญ? 

    • เมกะโปรเจกต์นี้ มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่ เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 1.4 แสนล้านบาท และการสร้างระบบการขนส่ง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย ทางหลวงระหว่างเมือง 6 ช่อง, ทางรถไฟเชื่อมต่อโครงข่ายหลัก และทางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ
    • รูปแบบการพัฒนาโครงการ ลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)
    • เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย
    • โครงการ Landbridge ช่วยลดระยะทางการขนส่ง ซึ่งเป็นการร่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งแล้ว 
    • แลนด์บริดจ์ ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ
    • เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็น จังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง
    • โครงการ Landbridge เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช 
    • ยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง 
    • ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ 
    • เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศไทยและภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน 
    • เชื่อมต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (#EEC) กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ระดับภูมิภาค 
    • เป็นเส้นทางรองรับสินค้าเส้นทางจากประเทศจีน ลาว อินเดีย ไปยังยุโรป หรือสินค้าจากยุโรปมายังภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

    คนในพื้นที่หวั่น “แลนด์บริดจ์” ได้ไม่คุ้มเสีย 

    มองอีกมุมกลับ แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ใครได้ใครเสีย? ยังเป็นคำถามที่คนในพื้นที่กำลังหาคำตอบ และเกิดกลุ่มต่อต้าน เนื่องจากกังวลว่าการเข้ามาของกลุ่มอุตสาหกรรม การลงทุน และแผนพัฒนาท่าเรือต่างๆ จะทำให้ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่สูญหายไปด้วย โดยเฉพาะวิถีชาวประมง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ไม่ได้หวือหวา แต่ทำให้คนในพื้นที่อยู่ได้ด้วยความสงบเรื่อยมา 

    เช่น กลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร รวมตัวต่อต้านกลุ่มทุนต่างชาติ และ แถลงการณ์ออกมาเป็นระยะๆ ว่าไม่เอาแลนด์บริดจ์ พร้อมขอให้รัฐบาลศึกษาและรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ก่อนนำโปรเจกต์ดังกล่าวไปโรดโชว์ขายต่างชาติ ด้วยเหตุผล 5 ข้อ ดังนี้ 

    1. เป็นโครงการไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ต้องสูญเสียเงินลงทุน
    2. พื้นที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
    3. ที่มาของโครงการ กระบวนการดำเนินการอาจไม่โปร่งใส และประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม อีกทั้งไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
    4. แลนด์บริดจ์ เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เชื่อมโยงกับ EEC รวบอำนาจ และให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน? 
    5. ประเมินว่าแนวโน้มการขนส่งทางเรือจะลดลง เปลี่ยนไปขนส่งทางรถไฟแทน โดยจีนกำลังสร้างเส้นทาง ONE BELT ONE ROAD ทั้งถนน รถไฟ ไปยังภูมิภาคต่างๆ จึงไม่มีแรงจูงใจมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ