นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือน ก.ย.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 ปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ยังคงฟื้นตัวช้า เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวขณะที่การปรับราคาสินค้ายังทำได้จำกัดและมีการแข่งขันสูงด้านราคา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในทิศทางขาขึ้นทำให้ภาระหนี้สูง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์มาตรการ วีซ่าฟรี ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวฟื้นตัวเพิ่มขึ้น
“หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงถึง 90.6% ต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รัฐบาลจึงได้เร่งให้มีการแก้ไขในการปรับโครงสร้างหนี้ แต่สิ่งที่ ส.อ.ท.ห่วงคือหนี้นอกระบบที่มีสูงถึง 19.6% ที่พบว่ามีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมากซึ่งล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากโรงงานหลายแห่งที่พบว่าช่วงพักเที่ยง และช่วงเลิกงานตอนเย็นจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์มาเก็บดอกเบี้ย ซึ่งเหล่านี้มีผลต่อกำลังซื้อของประชาชนที่ตกต่ำ จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะเร่งหามาตรการมาแก้หนี้นอกระบบด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ระดับ 94.4 ปรับตัวลดลงจาก 97.30 ในเดือน ก.ย.โดยมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก
ส่วนกรณีที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้พิจารณาในการปรับขึ้น โดยกำลังเปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือก โดยปรับเป็น 5.95-4.93 และ 4.68 บาท/หน่วย เป็นอีกเรื่องที่เอกชนกังวลต่อต้นทุนและค่าครองชีพประชาชนจะสูงขึ้นและที่สำคัญการปรับขึ้นถือว่าสวนทางหรือขัดกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการลดค่าครองชีพประชาชน รวมไปถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนมายังไทยเพราะค่าไฟที่สูงกว่าเพื่อนบ้านเป็นอีกปัจจัยหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุน จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะตรึงค่าไฟอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย และระยะยาวแล้วควรที่จะพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ให้สู่เป้าหมายใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาท/หน่วย
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐของ ส.อ.ท. ได้แก่ 1.เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำมาตรการ e-refund ช็อปปิ้งกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มาดำเนินการในเดือน ธ.ค.นี้ โดยอาจแบ่งวงเงินที่จะดำเนินการเดือน ม.ค.67 มาบางส่วนก็ได้ เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน 2.เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้เอสเอ็มอีเป็นเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 และ 3.ขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือ ไตรภาคีพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่