นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 อยู่ที่ 64.18 สตางค์ (สต.) หน่วย จากปัจจัยแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลกสูงขึ้นตามปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จึงให้สำนักงาน กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.ตั้งแต่ 10-24 พ.ย. ใน 3 ทางเลือก ประกอบด้วย กรณี 1 ค่าเอฟที 64.18 สต.ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเป็น 216.42 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย กรณีที่ 2 เอฟที 64.18 สต.ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ใน 1 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สต.หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายค่าไฟ 4.93 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 เอฟที 64.18 สต.ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ใน 2 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ต้องจ่ายค่าไฟรวม 4.68 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย เบื้องต้นจากกรณีการขึ้นค่าไฟต่ำที่สุด คือ 4.68 บาทต่อหน่วย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องใช้วงเงินอุดหนุนรวม 41,400 ล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าจะหาแหล่งเงินจากที่ใด.