ธ.ก.ส.ลุยปั้นเกษตรกรทั่วไทย ปลุกหัวขบวนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธ.ก.ส.ลุยปั้นเกษตรกรทั่วไทย ปลุกหัวขบวนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่น

Date Time: 9 พ.ย. 2566 06:30 น.

Summary

  • ธ.ก.ส.ลุยปรับโครงสร้างวงการเกษตรกรรมไทย ต่อยอด 3 ภารกิจหลักพาผลิตภัณฑ์ไทยไปทั่วโลก นำร่องพา 10 เกษตรกรหัวขบวนไทยบุกแดนปลาดิบ เติมความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ หวังเพิ่มมูลค่าสินค้าสร้างรายได้ยั่งยืนให้กับชุมชน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารได้มีการต่อยอดการพัฒนาเกษตรกร โดยจัดตั้งสำนักกิจการระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อดำเนินการใน 3 ภารกิจหลักช่วยเหลือและต่อยอดผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไทย ประกอบด้วย 1.การนำสินค้าเกษตรกรไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยนำร่องร่วมกับธนาคารเกษตรของจีน 2.การให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการ และด้านเงินทุน หาแหล่งเงินต้นทุนต่ำเข้ามาให้ ธ.ก.ส.ไปปล่อยกู้ให้เกษตรกรต่อ และ 3.การสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าระหว่าง ธ.ก.ส.ไปยังลูกค้าต่างประเทศในระยะเวลาอันสั้น

“การตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจะช่วยให้เกิดการพัฒนา และความร่วมมือภาคการเกษตรระหว่างประเทศให้มากขึ้น เช่น ปัจจุบัน ธ.ก.ส. เป็นสมาคมสินเชื่อการเกษตรและชนบทแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (อะปรากา) ซึ่งจะมีการขยายความร่วมมือจากการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสินเชื่อไปสู่การพัฒนาด้านการค้าการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากหน่วยงานอื่น เข้ามาช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้น”

ถอดโมเดลเกษตร “ญี่ปุ่น” ต่อยอดผลผลิต

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารยังได้พาเกษตรกรหัวขบวนจำนวน 10 รายมาดูงานด้านการเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพื่อศึกษาด้านการแปรรูปผลผลิตเป็นไวน์ การทำเครื่องปั้นดินเผา การพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงการทำนาแบบขั้นบันไดควบคู่กับการพัฒนาท่องเที่ยว ซึ่งการพาเกษตรกรหัวขบวนดังกล่าวมาดูงาน เพื่อต้องการให้เกษตรกรได้เห็นของจริง รวมถึงมาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรของญี่ปุ่นว่ามีแนวคิดอย่างไร มีการบริหารแบบไหน “ที่สำคัญ ยังได้เห็นการทำเกษตรแบบมูลค่าสูง ที่ผลผลิตออกมาไม่ต้องเยอะ แต่ขายได้ราคาสูง เหมือนกับคำพูดที่ว่า เกษตรกรญี่ปุ่นรวย เราจะได้เห็นว่าเขาทำอย่างไร มีกระบวนการคิดแบบไหน ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ภาคการเกษตรของญี่ปุ่น ไม่ใช่การปลูกไปเรื่อยๆ แต่เริ่มต้นจากการวางแผนว่าจะขายสินค้าอะไรให้กับใคร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่าจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้แค่ไหน ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ธ.ก.ส.กำลังส่งเสริม คือการผลิตเพื่อบริโภคในท้องถิ่นในเมือง รวมถึงการเข้าไปส่งเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยวให้ประสบความสำเร็จ”

ธ.ก.ส.ต้องการให้มาดูถึงวิธีคิด วิธีการวางแผน วิธีการผลิต วิธีการเติมแหล่งรายได้ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดให้กับภาคเกษตรของไทย อย่างเช่น การทำนาแบบขั้นบันได ซึ่งครั้งนี้ได้เยี่ยมชมวิธีการและขั้นตอนในการทำนาแบบญี่ปุ่น การบริหารต้นทุนการผลิต แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงการยกระดับสถานที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เกษตรกรหัวขบวนที่มากับเราสามารถนำไอเดียที่ได้จากการศึกษาดูงานมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง และขยายผลไปยังชุมชน

ในส่วนของ ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรนำไปต่อยอดธุรกิจ และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงการส่งเสริมการผลิตอย่างเดียว แต่จะเริ่มตั้งแต่เข้าไปช่วยเกษตรกรในการวางแผน ช่วยในเรื่องการขาย ช่วยในเรื่องการออกแบบ เป็นต้น

ไอเดีย “สวนสนุก” สร้างมูลค่าเพิ่ม “จันทน์เทศ”

ทั้งนี้ นายสากล บู่ทอง 1 ใน 10 เกษตรกรหัวขบวนไทย จาก จ.พังงา ที่ ธ.ก.ส.พาไปดูงานครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตที่พังงาและเห็นต้นจันทน์เทศมีคู่กับพังงามาตั้งแต่เกิด ที่ผ่านมาจะเห็นที่บ้าน ชาวบ้านและวิสาหกิจชุมชน จ.พังงา จะนำผลจันทน์เทศมาแปรรูป เช่น แช่อิ่ม อบแห้ง หรือสกัดเป็นเครื่องดื่ม ขายในท้องถิ่น ขณะที่จันทน์เทศที่พังงามีจุดเด่นคือ คุณภาพดี มีกลิ่นหอม และรสชาติที่ไม่เผ็ดจัด แถมยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลิตภัณฑ์จากจันทน์เทศได้รับการยกย่องให้เป็นของดีประจำจังหวัดและเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของจังหวัดพังงา แต่ลักษณะการแปรรูปที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัด แปรรูปแบบโบราณ และมักใช้ประโยชน์แค่เมล็ดและเนื้อผล จึงเหลือผลพลอยได้วัสดุทางการเกษตร เช่น รก เปลือก ดอก ใบ และราก ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรก็พากันโค่นต้นจันทน์เทศ จนปัจจุบันจากการสำรวจทั้งจังหวัดน่าจะมีเหลือแค่ 500 ต้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ลูกจันทน์เทศให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ จากเดิมทำแค่อบแห้ง น้ำสมุนไพร แต่มายุคตนจึงมีแนวคิดที่จะนำเนื้อจันทน์เทศมาทำเป็นเยลลี่, กัมมี่ ขณะที่รกของผลจันทน์เทศก็มาทำเป็นยาดม เพื่อขยายฐานตลาดให้กับกลุ่มที่เป็นวัยรุ่น และคนทั่วไปมากขึ้น

ตนยังได้เปิดสวนที่บ้านภายใต้ชื่อ “สวนสนุก” ให้เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งจากการต่อยอดทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม สมัยก่อนราคาผลจันทน์เทศลูกละ 80 สต.ปัจจุบันได้ปรับขึ้นมาเป็น 2 บาท ซึ่งหากใครสนใจที่จะชมผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อตามลิงก์ดังกล่าว https://www.facebook.com/FunFarm.PhangNga/ 

ยกระดับผลผลิต–ผลิตภัณฑ์เพิ่มรายได้

ด้านนายอับดุลเลาะ บากา ซึ่งเป็นเกษตรกรหัวขบวนเลี้ยงโค และแปรรูปเนื้อย่างและเบอร์เกอร์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Chaba beef” จาก จ.ยะลา กล่าวว่า เกษตรกรใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ นอกจากทำสวนแล้วก็จะนิยมเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเลี้ยงเต็มที่ตัวหนึ่งใช้ระยะเวลา 2 ปี จะขายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อตัว และการเลี้ยงต่อครัวเรือนก็ประมาณ 1-2 ตัว ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโค ด้วยการให้กลุ่มวิสาหกิจเครือข่ายในชุมชนหันมาเลี้ยงโคลูกผสม พันธุ์แองกัส และพันธุ์ชาโรเลส์ เพื่อยกระดับคุณภาพของเนื้อให้มีมูลค่ามากขึ้น และเมื่อเทียบการเลี้ยงวัวลูกผสมจะพบว่า เกษตรกรสามารถขายวัวได้ประมาณ 50,000-60,000 บาทต่อตัว และหากมีการแปรรูปเนื้อจากวัวลูกผสมจะสร้างมูลค่าเพิ่มไปอีก 20-30% จากราคาขายต่อตัว

“ตนถือเป็นเกษตรกรปลายน้ำที่นำวัวลูกผสมจากเกษตรกรมาต่อยอดแปรรูปขายให้ได้ราคามากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นำเนื้อวัวมาทำเป็นส่วนหนึ่งของเบอร์เกอร์ คือเบอร์เกอร์เนื้อ ในรูปแบบ Food truck เคลื่อนที่ ซึ่งจากที่เปิดตลาดออกไปในภาคใต้ตอนล่าง พบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าหลายกลุ่มดีมาก และนอกจากการแปรรูปเนื้อวัวลูกผสมแล้ว ขณะนี้ก็มีแนวคิดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มี ด้วยการผลิตเนื้อพร้อมทานแบบอบแห้ง ซึ่งหากทำออกมาก็มั่นใจว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคได้กินเนื้อวัวที่ดีมีคุณภาพได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ