นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ต.ค.66 เท่ากับ 107.72 ลดลง 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.65 เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน นับจากเดือน ส.ค.64 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล และราคาสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่แล้ว ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 66 เพิ่มขึ้น 1.60% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ต.ค.66 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่ม 0.08% เทียบกับเดือน ต.ค.65 และเฉลี่ย 10 เดือนเพิ่ม 1.41%
“เงินเฟ้อเดือน ต.ค.66 ที่กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือนนั้น ไม่ได้มีสัญญาณอะไรเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นการลดลงจากสินค้าหมวดสำคัญ อย่างพลังงาน และมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มีปัญหาอะไร และที่สำคัญเรื่องเงินฝืด ก็ยิ่งไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้น”
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน พ.ย.66 คาดปรับลงเล็กน้อย เทียบเดือน พ.ย.65 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหารที่ลดลง และกลุ่มพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐ และต้นทุนการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานดัชนีเดือน ก.ย.65 อยู่ในระดับสูง ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ยางพาราที่สูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์พลังงานที่ยังตึงตัว จากการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก และความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 66 อยู่ที่ 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ต.ค.66 มีสินค้าเพิ่มขึ้น 259 รายการ เช่นข้าวสาร ไข่ไก่ ข้าวราดแกง, ราคาคงเดิม 23 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถสาธารณะ และราคาลดลง 92 รายการ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผักสดบางชนิด.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่