นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานมอบรางวัลแก่องค์กรหรือหน่วยงานที่ส่งเสริมการออมของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งมาตรการจูงใจการแก้หนี้ครัวเรือน คือ การตัดลดวงเงินหนี้ให้กับลูกหนี้ที่พร้อมจะแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเอง โดยการตัดลดภาระหนี้บางส่วนของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียกับธนาคาร โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถออกจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ของเครดิตบูโรได้
“ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้ธนาคารออมสินรับผิดชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล ด้วยการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้เสียภาคครัวเรือน ซึ่งจะนำหนี้เสียที่อยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ มาอยู่ภายใต้การบริหารของ AMC และในอนาคตหากธนาคารพาณิชย์เอกชนต้องการนำหนี้เสียของตนเองมาให้ AMC บริหารก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ ธนาคารออมสินต้องกำหนดรายการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของหนี้ภาคครัวเรือน เพื่อให้สะดวกแก่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้”
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือน 15-16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 10% โดยกระทรวงการคลังมีเป้าหมายลดภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศลงสู่ระดับ 80%
นายกฤษฎากล่าวต่อว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครัวเรือนจะเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพราะหนี้ที่เป็นหนี้เสีย สถาบันการเงินได้สำรองเต็ม 100% ไปแล้ว หากปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหล่านี้ได้ และได้รับการชำระหนี้กลับคืนมาจะเป็นกำไรของสถาบันการเงินเท่านั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์เอกชน จะให้ความร่วมมือในโครงการนี้ด้วย
สำหรับการส่งเสริมการออม ได้มอบนโยบายให้ กอช. เร่งนำแรงงานนอกระบบ 18 ล้านคน ที่ยังไม่มีระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เข้าสู่ระบบการออมเพื่อการเกษียณของ กอช. โดยทั้ง 18 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 10 ล้านคน ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งมีระบบการออมที่ได้รับบำเหน็จ (เงินก้อน) ที่เหลืออีก 8 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณใดๆ จึงได้มอบหมายให้ กอช.เร่งนำทั้ง 8 ล้านคนเข้าระบบ มีเป้าหมายปี 67 อย่างน้อย 5-6 ล้านคน จะต้องเข้าระบบ กอช.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่