จับตาค่าไฟฟ้าปี 2567

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตาค่าไฟฟ้าปี 2567

Date Time: 31 ต.ค. 2566 08:13 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

วิกฤติสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ลากยาว ได้กดดันให้ ราคาน้ำมันและทองคำพุ่งขึ้นพรวดพราด แถมด้วยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ไม่เพียงน้ำมันอย่างเดียวที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่มันพ่วงไปถึงเชื้อเพลิงอื่นๆด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2567 เพราะตราบใดที่ประเทศไทยไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงที่เพียงพอ ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมกับคำว่า “ค่าไฟฟ้าแพง” จนกว่าสงครามจะเลิกรา

กรณีดังกล่าว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ แหล่งนำเข้าหลักของไทยปรับตัวสูงขึ้น 5% จากระดับ 84.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 88.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา แม้ว่า อิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก และผลิตน้ำมันได้วันละ 300,000 บาร์เรล แต่ชนวนสำคัญที่ส่อให้เห็นเค้าลางว่าน่าจะเลวร้ายลง คือการถล่มยิงโรงพยาบาลในฉนวนกาซา สร้างความหวาดหวั่นให้กับทิศทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศทั่วโลก เพราะขณะนี้เริ่มมีการประท้วงแสดงความไม่พอใจขยายในหลายประเทศในตะวันออกกลาง

ประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศไทย จึงถูกหวยกันถ้วนหน้า เพราะกรณีดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ หากสงครามลุกลามรุนแรง ยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันคาดว่า ราคาอาจพุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล หากอิหร่านยึดช่องแคบฮอร์มุช ที่มีการขนส่งน้ำมันวันละ 17.2 ล้านบาร์เรล เป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลก อาจทำให้ บางประเทศเกิดการขาดแคลนน้ำมันได้

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย แม้ว่าแอลเอ็นจีในตลาดจร (Spot LNG) ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาล เพราะกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ ราคาเคยปรับลดลงจากระดับ 29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ขยับมาอยู่ในระดับ 10-11 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในช่วงกลางปี และปรับตัวสูงขึ้นที่ 13-14 ดอลลาร์/ล้านบีทียูเมื่อเดือน ก.ย. ล่าสุดได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 18.4 ดอลลาร์/ล้านบีทียู เมื่อวันที่ 20 ต.ค. และแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 19-20 ดอลลาร์/ล้านบีทียูในปลายปีนี้

เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันคือ ประเด็นของการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดล่วงหน้า ภายใต้ สมมติฐานว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 85 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคา Spot LNG อยู่ที่ 14 ดอลลาร์/ล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยน 33.23 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ค่าเอฟทีที่สะท้อนต้นทุนอยู่ที่ 66.89 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย (รวมใช้หนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. 38.31 สต.ต่อหน่วยแล้ว) คิดเป็นค่าไฟฟ้าเรียกเก็บจริงที่ 4.45 บาทต่อหน่วย

ที่น่าจับตาคือ กรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้น 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคา Spot LNG ปรับตัวสูงขึ้นระดับ 18-19 ดอลลาร์/ล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์ จึงส่งให้ค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.ปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้ประมาณการไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจริงๆมาจากเชื้อเพลิง

ต่อมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายลดราคาพลังงาน ทำให้ กกพ.ต้องปรับลดค่าไฟฟ้าลงไปถึง 2 ครั้ง โดยรอบแรกลดเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย รอบที่ 2 เหลือเพียง 3.99 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ กกพ. ประกาศไปแล้วที่หน่วยละ 4.45 บาท ได้ส่งผลให้ กฟผ.จากเดิมที่จะได้รับคืนหนี้ที่ กกพ.ติดไว้ 38.31 สต.ต่อหน่วยก็ไม่ได้รับคืน แถมมีภาระหนี้เพิ่มอีก 7.69 สต.ต่อหน่วย

หวยชุดใหญ่ดังกล่าวยังมีแรงกระแทกไปถึงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ต้องมาแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงอีก 8,000-9,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติส่วนต่าง จาก 346.48 บาท/ล้านบีทียู ลงเหลือ 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

การแก้ปัญหาของรัฐบาลถือว่าเดินมาได้ถูกที่ถูกเวลาถูกใจประชาชน แต่หากสงครามลากยาว ขยายวงกว้างออกไป ไม่มีใครตอบได้ว่าเชื้อเพลิงในตลาดโลกจะแพงหรือถูกมากน้อยอย่างไร

โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่เป็นวัฏจักรประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนที่รุนแรง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในรอบปี ผนวกกับราคาเชื้อเพลิงที่ดีดตัวต่อเนื่องจากสงคราม ภาระหนี้ กฟผ.ที่เป็นดินพอกหางหมู 138,485 ล้านบาท แถมหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ ปตท.อีก 8,000-9,000 ล้านบาท

ดังนั้น คนไทยจึงอย่างเพิ่งดีใจกับบิลค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.นี้ที่ลดลง เพราะงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ค่าไฟฟ้าอาจเพิ่มสูงขึ้นตามปัจจัยที่เหนือการควบคุม จึงไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาลูกยักษ์ที่รอวันระเบิดใส่มือรัฐบาล

หากไม่มีมาตรการใดๆเตรียมไว้รองรับ อาทิ แจ้งข้อเท็จจริงเรื่องราคาพลังงานให้ประชาชนรับรู้ การแนะนำให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ฯลฯ เพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาในยามที่ กกพ.กำลังหัวหมุนกับแนวโน้มของราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น.

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ