นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2567 ว่า ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย จากปัญหาโควิด-19, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)ที่เป็นอีกเชื้อเพลิง มีการปรับราคาขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด “ในปี 2567 ปริมาณก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากอ่าวไทย แต่ราคาก็มีการปรับขึ้นเป็นระยะๆ ทำให้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5-10 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย แต่ที่ไทยมีปัญหา คือปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของแหล่งเอราวัณ จะมีกำลังการผลิตกลับมาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟฟุตต่อวันหรือไม่ในปีหน้า ทำให้ขณะนี้ยังคงต้องอิงกำลังการผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปก่อน”
ทั้งนี้ เมื่อต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาช่วยเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า ก็จะทำให้แอลเอ็นจีมีราคาแพงขึ้น และถ้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณไม่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในปริมาณข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกเรื่องค่าไฟฟ้าในปีหน้า “กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อทำตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ซึ่งจากคาดการณ์แนวโน้มต้นทุนอาจแพงกว่างวดปัจจุบันหรือใน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ถือเป็นการมองไปข้างหน้า เพราะขณะนี้ราคานำเข้าแอลเอ็นจีอยู่ที่ 17-18 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และผู้นำเข้ากำลังทยอยสั่งซื้อเข้ามาสำรองในประเทศ สาเหตุที่ต้องทยอยซื้อแม้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ราคาไม่สูงมากนัก เพราะหากซื้อมาในปริมาณที่มากปัญหาคือไม่มีที่เก็บ”
ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกที่จะมาทำให้ค่าไฟฟ้าปีหน้าไม่แพงผิดปกติ คือปริมาณไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวที่ไทยมีสัญญาซื้อขาย แต่ยอมรับว่ามีปริมาณไม่มาก รวมถึงเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีปริมาณน้ำมากขึ้นก็อาจจะมาช่วยเสริมกำลังการผลิตให้มีต้นทุนถูกลงในส่วนหนึ่ง “ผมอยากให้ประชาชนดูข้อเท็จจริงว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาจากอะไร อยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เพราะถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายมาดูแลต่อต้นทุนที่แท้จริง ก็จะอยู่ที่เกินราคา 4 บาทต่อหน่วย”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่