นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลได้ทยอยปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของตลาด ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยตลาดโลก โดยต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยของรัฐบาลน่าจะปรับเพิ่มเป็น 3% กว่าๆ และตามกลไกตลาด เมื่อต้นทุนเงินกู้ของรัฐบาลและต้นทุนเงินกู้ของภาคเอกชนตามไปด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปพิจารณาแผนการออกพันธบัตร (บอนด์) ต่างประเทศ เพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Bench Mark) ในการออกไประดมเงินทุนต่างประเทศของภาคเอกชนด้วย
“นายกฯได้มอบนโยบายว่าไทยควรจะสำรวจตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงให้เอกชน เพราะไทยไม่ได้ออกบอนด์ตลาดต่างประเทศ มานานกว่า 20 ปี ดังนั้นเมื่อนายกฯได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อสร้างจุดยืนในเวทีโลก และดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ไทยก็ควรจะแสวงหาโอกาสจากการออกบอนด์ต่างประเทศด้วย เพื่อทดลองตลาด ซึ่งเชื่อว่าจะขายได้หมด แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและเหมาะสมทั้งวงเงินและเวลาที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ ไม่ให้เป็นผลทางลบกับประเทศไทย”
สำหรับในปีงบประมาณ 67 สบน.มีแผนจะออกบอนด์เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 70,000 ล้านบาท โดยขณะนี้มี นักลงทุนได้แสดงความจำนงสนใจ ซึ่งหากเปิดขายบอนด์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะทยอยตามโครงการลงทุนของรัฐเป็นหลัก ไม่ได้ออกบอนด์ครั้งเดียว.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่