ลุยต่อ “สายเดินเรือแห่งชาติ” กทท.ศึกษาเสร็จยัน 3 เส้นทางคุ้มทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุยต่อ “สายเดินเรือแห่งชาติ” กทท.ศึกษาเสร็จยัน 3 เส้นทางคุ้มทุน

Date Time: 23 ต.ค. 2566 05:03 น.

Summary

  • ลุยต่อ “สายการเดินเรือแห่งชาติ” “มนพร” สั่ง กทท.เดินหน้า เร่งสรุปรูปแบบการลงทุน-ข้อกฎหมาย ก่อนชงครม.เคาะไฟเขียว ประเดิม 3 เส้นทางเดินเรือในประเทศ พิกัดเริ่มต้นจาก “แหลมฉบัง” สู่ “มาบตาพุด-ไฟร์ซัน-สุราษฎร์” หลังพบคุ้มค่าและเหมาะสม

Latest

ธุรกิจที่ปรึกษาส่ิงแวดล้อมรายได้ฉ่ำ

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติว่า ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีมาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ขณะนี้ กทท.ได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) และได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะมีการพิจารณาถึงรูปแบบการดำเนินการว่า จะเป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) หรือ กทท.จะดำเนินการลงทุนเองรวมถึงจะมีการส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือไม่ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วนั้น จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว ได้ดำเนินการศึกษาเส้นทางการเดินเรือทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นจะดำเนินเส้นทางในประเทศก่อน ทั้งนี้ พบว่า มี 8 เส้นทางที่มีความเหมาะสม สามารถเปลี่ยนโหมดการขนส่งจากทางบกมาสู่ทางน้ำได้ โดยมี 3 เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนและไม่ทับซ้อนกับเส้นทางที่มีเอกชนดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ประกอบด้วย 1.เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) 2.เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และ 3.เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และความคุ้มค่ารวมถึงข้อกฎหมายด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กทท.ว่า ก่อนหน้านี้ กทท.ได้เผยรูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติ พบว่า ควรเน้นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยรัฐลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 25% จะทำให้มีความเหมาะสมและคล่องตัวในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในด้านการตัดสินใจที่รวดเร็ว เป็นการดึงจุดเด่นของภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางชายฝั่งของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือและกำไรที่ได้จากผลประกอบการ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กทท.คาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติเมื่อเปิดให้บริการประมาณ 2% ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 ที.อี.ยู. ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 ที.อี.ยู. จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ