นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดเงื่อนไขและแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนได้ เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา พร้อมนำข้อท้วงติงของหลายฝ่าย มาประกอบการพิจารณาด้วย อีกทั้งประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้งานที่ต้อง มีเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสูง รวมถึงนำไปต่อยอดการใช้งานในอนาคต จำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะส่งผลให้การประกาศแจกเงินดิจิทัลต้องเลื่อนออกไปจากวันที่ 1 ก.พ.67 แต่จะพยายามทำให้แล้วเสร็จและเริ่มแจกเงินได้ในไตรมาสแรกของปี 67
“นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้มอบโจทย์ไว้ว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะดำเนินการในวันที่ 1 ก.พ.67 แต่เมื่อมีเหตุผลความจำเป็น ที่ทำให้เกิดความล่าช้า ผมพร้อมที่จะไปอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ทำให้ล่าช้า เพราะการพัฒนาระบบ รองรับการใช้งานกว่า 54.8 ล้านคน จำเป็นต้องมีเสถียรภาพและปลอดภัย ซึ่งต้องทำให้ดี ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นต้องเลื่อนก็ต้องเลื่อน ซึ่งเลื่อนไม่กี่วัน ไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ และการพัฒนาระบบรองรับนั้น ไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทใด เนื่องจากได้มอบหมายให้สมาคมธนาคารรัฐ เป็นผู้ดำเนินการ”
สำหรับประเด็นเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลนั้น มีการถกเถียงกันในวงกว้าง มีทั้งข้อเสนอแนะให้แบ่งกลุ่มการแจกกลุ่มเปราะบาง การทยอยแจกเป็นเวลา 10 เดือนนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล ไม่ได้เป็นนโยบายสงเคราะห์ แต่เป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้มีการขยายตัว ซึ่งตามเป้าหมายคาดว่าเมื่อมีการแจกเงินดิจิทัลแล้วมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจได้ 5%
ส่วนข้อเสนอเรื่องการยกเว้นการแจกเงินคนรวยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าคนมีรายได้ระดับใด คือ คนรวย บางคนบอกว่า มีเงินเดือน 20,000 บาทก็รวยแล้ว แต่สำหรับรัฐบาลมองว่า คนชั้นกลางลำบากมานาน ที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีนัก ฉะนั้น นโยบายแจกเงินดิจิทัลควรให้โอกาสแก่คนกลุ่มนี้ด้วย สำหรับประเด็นรัศมีการใช้เงินนั้น จากเดิมกำหนดไว้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่บัตรประจำตัวประชาชน แต่ขณะนี้ได้ยกเลิกเงื่อนไขนี้ไปแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ส่วนคนในกรุงเทพมหานคร จะแบ่งเป็นแขวงและเขต ซึ่งต้องรอการพิจารณาในวันที่ 24 ต.ค.66 นี้
“ผมไม่รู้สึกกังวลใดๆว่าโครงการนี้จะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว เพราะเชื่อมั่นในระบบที่รัฐบาลกำลังพัฒนาขึ้นมา เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้เงินที่แจกไปว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจจริงๆ จึงทำให้เชื่อมั่นว่าจะไม่มีการทุจริต แต่หากมีการทุจริต รัฐบาลจะมีการดำเนินคดีอย่างแน่นอน”
นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับการยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งบุคคลใดที่เคยยืนยันตัวตนแล้วในโครงการของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องยืนยันตัวตนอีก แต่ต้องยืนยันการรับสิทธิ ส่วนบุคคลใดที่ไม่เคยยืนยันตัวตนมาก่อน ก็ต้องมายืนยันตัวตนผ่านสมาร์ทโฟน ส่วนบุคคลที่ไม่มีสมาร์ทโฟน รัฐบาลจะมีแนวทางการดำเนินการให้ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง คนชราที่ไม่สามารถเดินทางมายืนยันตัวตนได้ ก็ต้องหาวิธีการยืนยันตัวตนเป็นการเฉพาะ ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดระยะเวลาการยืนยันตัวตนก่อนการประกาศแจกเงิน
ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น ต้องลงทะเบียนเป็นร้านค้าเข้าร่วมโครงการเหมือน
ที่ผ่านมา โดยร้านค้าที่สามารถนำไปขึ้นเงินสดได้นั้น จะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ขณะเดียวกันรัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าถือเงินดิจิทัลไว้ก่อน เพื่อให้เงินหมุนอยู่ในระบบนานขึ้น แต่หากต้องการขึ้นเงินสด สามารถไปขึ้นเงินสดได้ที่ธนาคาร ส่วนประชาชนที่ได้รับแจกเงินดิจิทัลนั้น มีระยะเวลาการใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่