ในท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของสงครามการค้าโลก “วิน วิริยประไพกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บิ๊กเบิ้มแห่งอุตสาหกรรมเหล็กบ้านเรา ชี้เปรี้ยงว่า “เหล็กไทย” จะต้องเจอสงครามใหญ่ “Climate Action” (มาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ)
จึงจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือปรับตัวสู่ “Green Steel” (การผลิตเหล็กที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
โดยมองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาและเรียนรู้ที่จะปรับตัวรับมือเป็นการด่วน
1.) กฎกติกาโลกสำหรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพราะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งได้เริ่มช่วงเปลี่ยนผ่านแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีนี้ และจะเริ่มบังคับเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2569 คือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่มาก เพราะจะก่อกระแสรุนแรงให้เกิดการเร่งตัวของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลกใน 2 มิติ
นั่นคือ 1. ภูมิภาคต่างๆจะตามบังคับใช้มาตรการคล้ายๆ CBAM เริ่มจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และขยายไปทั่วโลก และ 2. สินค้าและบริการอื่นๆนอกขอบข่ายของ CBAM จะถูกใช้มาตรการดังกล่าวด้วย เห็นได้จากปัจจุบัน “เหล็ก” ได้โดนบังคับใช้แล้ว โดยแนวโน้มที่จะโดนมาตรการนี้ต่อไป ได้แก่ บริการขนส่ง สินค้าที่ผลิตจากโลหะ ซิเมนต์ สินค้าบริโภคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นคลื่นแห่งการบังคับใช้เต็มรูปแบบในเรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสมือนหิมะถล่มรุนแรงไปทั่วโลก
“หากประเทศใด อุตสาหกรรมใด ตายใจ ไม่ทำอะไรเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง ประเทศนั้น อุตสาหกรรมนั้น ย่อมลำบากแน่นอน และอาจถึงขั้นอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไร เราจะอยู่ไม่ได้แน่นอน”
2.) หนทางสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กโลก คุณวินมองว่าอุตสาหกรรมเหล็กในโลกยังจำเป็นต้องคงอยู่ต่อไป เพราะเหล็กกล้ายังเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการช่วยสร้างโลก โดยแร่ธาตุเหล็กยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่สามารถนำมาใช้ได้ปริมาณมาก ด้วยต้นทุนไม่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กด้วยเตาถลุงเหล็กแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกันกว่า 2 พันล้านตันต่อปี ต้องหันไปสู่เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยมลภาวะ ซึ่งมีหลายเทคโนโลยีเป็นทางเลือกสำหรับผู้ผลิตเหล็ก ได้แก่ โรงงานเหล็กที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ โดยราคาค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่ต้องจ่าย จะเป็นตัวชี้วัดว่าเทคโนโลยีไหนจะคุ้มทุน และมา เร็วช้าเพียงใด รวมถึงการแก้ปัญหาแหล่งวัตถุดิบด้วย
การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตเหล็กที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Gray Steel) ไปสู่การผลิตเหล็กที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green Steel) จึงยังมีความยุ่งเหยิง ไม่แน่นอน และอุตสาหกรรมเหล็กของโลกยังต้องรีบเร่งแข่งขันค้นหาจุดสมดุลใหม่ระหว่าง (1) เทคโนโลยี (2) วัตถุดิบ (3) แหล่งและต้นทุนพลังงาน (4) ราคาคาร์บอน
อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการลงทุนสูง ดังนั้นภาครัฐ ทั้งสหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และอื่นๆ ต่างก็เร่งให้การสนับสนุน (subsidy) อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ใน 3 ช่องทาง คือ 1. สนับสนุนไปยังต้นน้ำ (Upstream) ผ่านเรื่องพลังงาน เทคโนโลยี และวัตถุดิบ 2.สนับสนุนโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และ 3.สนับสนุนไปยังปลายน้ำ (Downstream) ผ่านตลาดและผู้บริโภค เช่น การปกป้องตลาด การให้ incentive กับผู้บริโภคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยหากต้องการเปลี่ยนการผลิตจาก Gray Steel เป็น Green Steel จะหาพลังงานสะอาดมาจากไหน และค่าไฟฟ้าของไทยก็แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งด้วย
และ 3.) หนทางสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทย หลายคนมักถามว่าอุตสาหกรรมเหล็กไทย “ทำไมถึงอ่อนแอ?” แต่จริงๆเราควรถามด้วยว่า “ทำไมอุตสาหกรรมเหล็กประเทศอื่นๆ ทำไมถึงแข็งแรง แข็งแกร่ง ตัวใหญ่?” เพราะประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเหล็กล้วนมีที่มาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังต่อเนื่องจากภาครัฐในประเทศนั้นๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องต่อสู้และพัฒนาตนเองตามลำพังโดยแทบไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐเลย
ดังนั้น อุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งต้องสู้กับเหล็กจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอื่นๆ ซึ่งรัฐของเขาสนับสนุน เราจึงไม่มีทางชนะการเปลี่ยนแปลงของ Climate Change และการเร่งของ Climate Actions
ในขณะที่ประเทศต่างๆ รัฐบาลได้เข้าช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กของตนให้พร้อมรับมือ จึงเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย
เราจะตายไม่ใช่เพราะ Climate Change แต่จะตายเพราะ Climate Actions และมีโอกาสตายเร็วภายใน 10 ปีด้วย ไม่ใช่ตายช้าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐและอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ต้องทบทวนและจัดทำโรดแม็ปแห่งอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อจัดระเบียบและร่วมมือกันมุ่งไปสู่ Green Steel และNet Zero
“ที่สำคัญ รัฐต้องวางกรอบทิศทางนโยบายที่นิ่งและเอื้ออำนวยทั้งในเรื่องพลังงานและตลาด พร้อมมาตรการที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การสนับสนุนทางการเงินสำหรับเทคโนโลยีการผลิตที่ลดมลภาวะ การจัดหาวัตถุดิบ การชักชวนนักลงทุน การหาตลาด Green Steel เป็นต้น”.
เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ