เพิ่มเสน่ห์ไทย ดึงนักลงทุนต่างชาติ รัฐตั้งคณะกรรมการแก้ไขอุปสรรค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพิ่มเสน่ห์ไทย ดึงนักลงทุนต่างชาติ รัฐตั้งคณะกรรมการแก้ไขอุปสรรค

Date Time: 14 ต.ค. 2566 06:20 น.

Summary

  • “หมอมิ้ง” ฉายภาพการทำงานรัฐบาล เร่งเครื่องดักการลงทุนต่างชาติเข้าไทย เตรียมตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ให้ “ธงทอง” เป็นประธาน จัดเต็มโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกขนส่ง พร้อมเสนอแก้ไขมติ ครม. ปี 2552 เพื่อดึงแหล่งน้ำรองรับลงทุนในอีอีซี

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้สั่งการด่วนให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนให้สามารถดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และให้นายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะกรรมการ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นรองประธาน และมีนักกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“รัฐบาลนี้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โต โดยจะมองภาพอย่างเป็นยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงทุกเรื่องๆเข้าหากัน และดูว่าความต้องการโลกจะไปทางไหน เราจะจับทิศทางไว้ วันนี้เราจะดักธุรกิจพื้นฐานอย่างภาคธุรกิจภาคการเกษตรที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าเกษตรเป็นเรื่องของอาหาร”

ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเดินทางไปเยือนจีน ซึ่งมีกำหนดการให้บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากขอเข้าพบ จากนั้นปลายสัปดาห์ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางต่อไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นชาติสมาชิกของ Cooperation Council for the Arab States of the Gulf หรือกลุ่มประเทศจีซีซี ซึ่งเป็นสหภาพที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีที่ตั้งอยู่ติดกันในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งจะมีเปิดตลาดมหาศาล เพราะต้องการอาหารจากประเทศไทย

นพ.พรหมินทร์ยังกล่าวถึงนโยบายในด้านคมนาคมเพื่อสร้างความสะดวกให้กับนักธุรกิจที่จะลงทุนในประเทศไทยว่า รัฐบาลจะเปิดช่องทางการขนส่งอาหาร โดยการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจากเมืองเวียงจันทน์ของลาวเข้ามาไทย และจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวก โดยรัฐบาลพร้อมสานต่อโครงการด้านการลงทุนทั้งระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคและโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือกับกรมชลประทาน และนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อหารือแผนการรองรับน้ำในพื้นที่อีอีซีให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 550,000 ลิตรต่อวัน”

นพ.พรหมินทร์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปที่จะบริหารน้ำให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้งของปี 2567 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องน้ำที่จะไม่เพียงพอต่อการใช้ในด้านอุตสาหกรรมของนักลงทุนที่จะมีเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งในขณะนี้คาดว่ามีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมจากเดิมอีก 20% จึงเตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.ปี 2552) เพื่อให้สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำจังหวัดจันทบุรีเข้ามาเติมในพื้นที่อีอีซีได้เพียงพอ “ในขณะนี้มีแหล่งกักเก็บน้ำในจังหวัดจันทบุรีที่สร้างเสร็จแล้ว 3 อ่าง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 อ่าง แต่ติดมติ ครม. ปี 2562 ที่มีมติให้สร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 อ่าง จึงจะสามารถปล่อยน้ำมาใช้ในพื้นที่อีอีซีได้”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมแก้กฎกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับคลังน้ำมัน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของบริษัท Amazon Web Services (AWS) เนื่องจากกฎหมายไทยที่ล้าหลังเกินไป แก้กฎกระทรวงนี้ให้เอื้อต่อการลงทุน จะทำให้บริษัทด้านเว็บ เซอร์วิส เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง รายอื่นๆตามมาด้วย

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังการหารือกับนางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ว่า ออสเตรเลียสนใจลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะด้านน้ำและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยตนย้ำว่านักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ออสเตรเลียถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 8 ของไทยในตลาดโลก การค้าสองฝ่ายในปี 2565 มีมูลค่า 18,388.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ซึ่งไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยสาขาที่ออสเตรเลียมีศักยภาพและไทยให้ความสำคัญ เช่น เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาแรงงานผ่านการศึกษา พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ