น่าสนใจและน่าศึกษา ทำไมประเทศเล็กๆอย่างอิสราเอล ซึ่งมีพื้นที่เพียง 22,072 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกเพียง 15% จึงกลายเป็นประเทศเกษตรชั้นนำ สามารถดึงดูดชาวนา ไทยให้ไปทำงานเกษตร เช่น ปลูกกล้วยได้ ทั้งที่ไทยเป็นประเทศเกษตรชั้นนำของโลก
เห็นได้ชัดว่าแรงจูงใจสำคัญ ที่ทำให้ลูกหลานชาวนาไทย ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นชาวอีสาน ให้เสียค่าเดินทาง (อาจรวมทั้งค่านายหน้า) หัวละนับแสนๆบาทไปรับจ้างปลูกกล้วยในอิสราเอล แรงจูงใจคือค่าตอบแทนที่สูง
จากคำบอกเล่าของครอบครัวแรงงานไทยบอกว่า แรงงานได้รับค่าจ้าง 50,000 บาท พอๆกับการขายแรงงานในเกาหลีใต้ เดือนละ 50,000 ถึง 60,000บาท แรงงานไทยในสองประเทศ ต่างไม่อยากกลับบ้าน แม้จะมีปัญหาแรงงานผิด กฎหมายในเกาหลีใต้ อาจถูกดำเนินคดี ส่วนที่อิสราเอลต้องเสี่ยงด้วยชีวิต
เปรียบกับค่าตอบแทนในประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยวันละ 337 บาท หรือประมาณเดือนละกว่า 10,000 บาทเล็กน้อย นั่นคือแรงงานทั่วไป แต่ถ้าเป็นชาวนาอาจได้ค่าแรงน้อยกว่า จึงต้องดิ้นรน ยอมเสียเงินและเสี่ยงภัยไปทำงานที่อิสราเอล ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าครอบครัวเกษตรกรกว่า 10% มีรายได้ใต้เส้นความยากจน
แสดงว่าไม่ใช่ยากจนธรรมดา แต่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ซ้ำยังมีหนี้สินรุงรัง ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 คนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 86.8% ของจีดีพี แม้จะลดลงจาก 90.1% แต่เป็นการลดเนื่องจากจีดีพีเพิ่มขึ้น รัฐบาลชุดก่อนประกาศขจัดความจนให้สิ้นซาก แต่กลับเพิ่มคนจนจาก 13 ล้าน เป็น 20 ล้านคน
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ชาวนาผู้ยากจน โดยเฉพาะในภาคอีสาน ต้องดิ้นรนและเสี่ยงชีวิตไปขายแรงงานที่อิสราเอล อีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และคนส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว ซึ่งต้องการน้ำมากที่สุด แต่ระบบชลประทานไม่ทั่วถึงเหมือนภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่จึงต้องทำนาหนเดียว และต้องพึ่งเทวดา
อีสานมีประชากรมากที่สุด จึงมี สส.มากที่สุด และกลายเป็นภาคที่ชี้ขาด พรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล แต่ขณะนี้ไม่มีพรรคใดมีนโยบายแก้ภัยแล้งและน้ำท่วมอีสาน ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาการทำนาอีสาน รัฐบาลใหม่แก้ด้วยการพักหนี้ 3 ปี แต่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว แม้จะตามด้วยการแจกเงิน หมื่นก็อยู่ได้แค่ 6 เดือน.