สั่งทบทวนภาษี “มรดก-ที่ดิน” “เศรษฐา” ติงให้บังคับใช้กฎหมายได้จริง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สั่งทบทวนภาษี “มรดก-ที่ดิน” “เศรษฐา” ติงให้บังคับใช้กฎหมายได้จริง

Date Time: 9 ต.ค. 2566 06:10 น.

Summary

  • นายกรัฐมนตรีสั่งกรมสรรพากรทบทวนภาษี “มรดก–ที่ดิน” หวังเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชี้เมื่อรัฐบาลมีกฎหมายจัดเก็บภาษีออกมาแล้ว อยากให้เก็บได้จริง ไม่อยากให้เป็นเพียงสัญลักษณ์

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรไปดำเนินการศึกษาและปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีมรดก เนื่องจากภาษีมรดกถูกมองเป็นกฎหมายที่มีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้จริง นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“เมื่อออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมาแล้ว อยากให้เก็บได้จริง ไม่อยากให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง กรมสรรพากรต้องพิจารณาทบทวนปรับปรุงในรายละเอียด แล้วนำมาเสนอ ทำได้ไม่ได้ต้องไปทบทวนดูก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมสรรพากรว่า ภาษีมรดกเคยถูกนำมาใช้เมื่อปี 2476 แต่ได้ยกเลิกไปเนื่องจากจัดเก็บได้น้อย ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยยอดการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมรดกที่ถูกส่งต่อมาให้ผู้รับมรดก เนื่องจากวัฒนธรรมของไทยคือ การสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งประเด็นการสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานนั้น ถือเป็นเรื่อง ละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยเช่นกัน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากิน และในระหว่างที่ได้ทรัพย์สินมา ทางผู้มีทรัพย์สินก็ได้ชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลักในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีมรดกนั้น ต้องพิจารณา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ฐานการจัดเก็บภาษีปัจจุบัน จัดเก็บภาษี มรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ต้องพิจารณาว่ารัฐบาลต้องการปรับเพิ่มหรือลดลงหรือไม่อย่างไร

2.รายการทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายการเสียภาษี และ 3.ข้อยกเว้นการเสียภาษีดังกล่าว โดยภรรยาหรือสามีตามกฎหมายเมื่อได้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี

สำหรับกรณียกเว้นการจัดเก็บภาษีมรดกที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายนั้น ถือเป็นช่องที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่าง บิดา เสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ภรรยา 100 ล้านบาท และ ลูก 2 คน คนละ 100 ล้านบาท มรดกดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจากได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีภรรยานั้น ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายให้ยกเว้นเฉพาะคู่สามีภรรยา

ส่วนทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน สำหรับการยกเว้นภาษีการรับมรดกนั้น อาทิ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือหน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันกับนานาประเทศ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ