เอกชน ไม่เห็นด้วย “ขึ้นค่าแรง 400 บาท” ทั้งประเทศ พร้อมเสนอรัฐบาล “แจกเงินดิจิทัล” แค่ 40 ล้านคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เอกชน ไม่เห็นด้วย “ขึ้นค่าแรง 400 บาท” ทั้งประเทศ พร้อมเสนอรัฐบาล “แจกเงินดิจิทัล” แค่ 40 ล้านคน

Date Time: 4 ต.ค. 2566 14:44 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ที่ประชุม กกร. เผย เอกชนไม่เห็นด้วย รัฐบาลเดินหน้า “ขึ้นค่าแรง 400 บาท” ทั้งประเทศ หวั่น SME บางแห่ง รับต้นทุนไม่ไหว พร้อมเสนอรัฐบาล คัดกรองสิทธิ์ “แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” แค่กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และพร้อมใช้เงิน คาดมีไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน

Latest


ว่ากันว่า “เศรษฐกิจไทย” ขณะนี้เหมือนคนป่วยไข้ เพราะมีความเปราะบาง อ่อนไหว จากปัจจัยกระทบมากมาย อย่างกรณีล่าสุดก็คือ ปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งแม้ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับสกุลต่างๆ ทั่วโลก เหตุเพราะดอลลาร์แข็งค่าอย่างหนัก จากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ไม่มีท่าทีว่าจะหยุด 

แต่สำหรับประเทศไทย ผลกระทบอาจมีมากกว่าชาติอื่นๆ เพราะเรามีการนำเข้ามหาศาล โดยเฉพาะพลังงานและน้ำมัน นั่นเท่ากับไทยมีความเสี่ยงขาดดุลเพิ่มเติม ขณะที่การส่งออกวี่แววยังสุ่มเสี่ยงสูง แม้ตัวเลขเดือน ส.ค. กระเตื้องกลับมาเล็กน้อย 

ตอกย้ำกับล่าสุด OECD ประเมินว่า GDP ของโลก จะเติบโตเพียงประมาณ 3.0% ในปี 2566 และเพียง 2.7% ในปี 2567 โดยที่ปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศในภูมิภาคเอเชีย 

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว ทำให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เผชิญความเสี่ยงจากความต้องการโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความเสี่ยงในประเทศจะมีมากกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนต่างมีความกังวลถึงแนวโน้มต้นทุนที่มีอาจมีมากขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินผ่านการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ล่าสุด ต้นทุนพลังงาน ค่าขนส่ง จากแนวโน้มราคาน้ำมันแพง เพราะค่านำเข้าสูงขึ้น รวมไปถึงการที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตามที่หาเสียงไว้เร็วๆ นี้ ท่ามกลางรายได้กลุ่มเอสเอ็มอีไทยยังไม่ฟื้นตัว และมีปัญหา การเข้าถึงสินเชื่ออย่างมาก 

ไม่เห็นด้วย ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั้งประเทศ 

ล่าสุด ในการแถลงข่าวประจำเดือน ต.ค. 2566 ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า จากการหารือกันของภาคเอกชน หลายรายมีความเป็นห่วงต่อนโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาล โดยมีจุดยืนร่วมกันว่า ไม่คัดค้านในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่เห็นด้วยในการปรับตัวเลขไปอยู่ที่ 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ แม้จะยอมรับในแนวคิดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้นได้ แต่อยากให้รัฐบาลคำนึงในแนวทางปฏิบัติด้วย ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง 

ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ ควรใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้กำหนดแนวทาง เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด เนื่องจากบริบทและศักยภาพของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน 

ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งได้กำหนดปัจจัยในการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ฯลฯ)

“ไม่อยากให้รัฐบาลอ้างถึงสัญญาที่หาเสียงไว้เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองความเป็นจริง ซึ่งเอกชนมีจุดยืนว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามกฎหมาย และข้อตกลงของไตรภาคีเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีศักยภาพไม่เท่ากัน เช่น นครราชสีมา มี 10 อำเภอ แต่ SME บางพื้นที่ส่งเสียงออกมาแล้วว่า คงไม่สามารถแบกต้นทุนใหม่ได้มากขนาดนั้น อยากฝากให้รัฐบาลพิจารณาด้วยพื้นฐานเบื้องต้น ว่าเราไม่ได้ขัดข้อง แต่ไม่เห็นด้วยว่าค่าแรงต้องเท่ากันทั้งหมด” 

กกร. เสนอหั่นงบ 5.6 แสนล้าน นโยบายแจกเงิน ทำประโยชน์อื่น

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. ระบุเสริมว่า ผลกระทบของค่าแรง 400 บาท อาจตกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้แรงงานต่อวันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงภาคท่องเที่ยวและบริการด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่พบว่าแต่ละจังหวัดมีความพร้อมไม่เท่ากัน 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งก่อน ก็มีจุดร่วมตรงกันว่า การขึ้นค่าแรงคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นหลัก ทั้งตัวเลขและคำนึงถึงค่าครองชีพของแรงงานด้วย เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ต่างชาติที่อยากมาลงทุนลดความสนใจลง จากปัจจัยค่าแรงที่ก้าวกระโดดของไทย   

นอกจากนี้ นายสนั่น ยังกล่าวถึงข้อเสนอต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ด้วยวงเงิน 5.6 แสนล้านบาทของรัฐบาลในช่วงปีหน้า โดยระบุว่า ที่ประชุม กกร. มีความเห็นและพร้อมสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว แต่เสนอว่าควรจำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ตอบโจทย์ และจำกัดพื้นที่ในการใช้งาน เพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจทวีคูณ (Multiplier) มากกว่า 

โดยสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Local Content) หากสามารถควบคุมวงเงินให้เหมาะสม จะมีวงเงินไปลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่หยุดชะงัก และเป็นไปตามเป้าหมาย มุ่งเน้นให้การเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

“เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่จะให้สิทธิ์คนไทยถึง 56 ล้านคน จุดนี้เราอยากให้รัฐบาลพิจารณาเงื่อนไขใหม่ คัดเลือกแค่คนที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ เงินส่วนต่าง และนำไปใช้ประโยชน์กับเรื่องอื่นๆ แทน โดยตัวเลขคนมีสิทธิ์ คร่าวๆ ในระบบ มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน” 

แนะคัดกรอง ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แค่กลุ่มจำเป็น 

ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่รัฐจะคัดกรองว่าใครควรได้สิทธิ์รับเงินจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้น คงประเมินได้ไม่ยาก โดยสามารถเรียกข้อมูลจากกลุ่มคนที่เคยได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนเคยหยิบยื่นให้ โดยอย่างที่ระบุ ทราบว่า มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน (+,-) และ คงไม่ใช่ทั้ง 56 ล้านคน ที่อยากใช้เงินดังกล่าว ด้วยหลักคิดที่ว่า ...

  1. ถ้ารัฐบาลอยากเห็นตัวคูณสูงๆ ก็ต้องเน้นการจับจ่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ 
  2. การให้เงินไปตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็น ผ่านการใช้บ่อย ใช้ถี่ เกิดเงินหมุนหลายรอบ จะเกิดประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจมากกว่า
  3. เห็นด้วยกับเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลในรัศมี 4 กิโลเมตร จากบ้านพัก เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนถูกระตุ้นและเติบโต 

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ