“เศรษฐา” วางกรอบงบปี 67 ยึดสัญญาประชาชน-รักษาวินัยเคร่งครัด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เศรษฐา” วางกรอบงบปี 67 ยึดสัญญาประชาชน-รักษาวินัยเคร่งครัด

Date Time: 3 ต.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • “เศรษฐา” วางกรอบจัดทำงบปี 67 รวม 5 ข้อ ให้ทำตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดและเป้าหมาย ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ชี้หลายหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ก่อน และให้ยึดวินัยการเงินการคลัง

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ตั้งใจบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยขอวางกรอบความสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้ คือ

1.จัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา รวมถึงคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ

2.ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกันเหมือนในอดีต

3.วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงาน หรือโครงการขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวินัยการเงินการคลัง “ขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผล เพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์”

4.โครงการแผนงานต่างๆ ต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลดีกับประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่า ฉะนั้น ขอให้ลดแผนงานหรือโครงการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการที่ไม่มีความชัดเจน นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป

5.จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ หลายหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยใช้เงินแหล่งอื่นๆ เช่น ร่วมมือภาคเอกชน เป็นต้น “แม้งบปี 67 ล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเบิกจ่าย อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ขอให้พิจารณาความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย และทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ยึดวินัยการเงินการคลัง”

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ต้นปี 67 จะมีเงินอัดฉีดเข้าในเศรษฐกิจ 560,000 ล้านบาท นโยบายนี้จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น โดยจะเข้าไปกระตุ้นดีมานด์ และอุปสงค์จะขับเคลื่อนฝั่งซัพพลายหรืออุปทานให้โตขึ้นก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือภาษีที่กลับคืนสู่ภาครัฐ จำกัดการใช้จ่ายให้อยู่ในชุมชน จะทำให้เงินหมุนเข้าไปถึงระดับรากหญ้าก่อน

“ระยะเวลา 6 เดือน ก็เพื่อกำหนดให้เงินนี้ ต้องหมุน มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่อย่างนั้นก็จะ
เอาไปดองไว้ ไม่ก่อให้เกิด Multiplier Effect หรือการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ ครม.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน จัดหาแหล่งเงิน กำหนดกฎระเบียบทั้งหมด และตอบคำถามจากทุกคน ไม่ต้องห่วงครับ ได้ใช้แน่นอนเดือน ก.พ.นี้”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ