นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.กำลังรวบรวมรายละเอียดโครงการที่ รฟม. มีแผนงานเร่งด่วน ที่ต้องเสนอต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้พิจารณา เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินงานต่อไป ใน 3 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 140,000 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ได้คัดเลือกเอกชน และได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญา แต่ยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการระหว่าง รฟม.และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงิน 49,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ โดยในส่วนพื้นที่ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจที่จะใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รฟม. จะวางแผนการก่อสร้างร่วมกัน และในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รฟม.จะเป็นผู้ก่อสร้างเอง จากเดิมที่จะให้ กทพ.ดำเนินการ และพื้นที่ด้านข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่ กทพ. มีแผนทำอุโมงค์ทางด่วน 2 ชั้น ตอน N1 (ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ)
3.โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 33,000 ล้านบาท กระทรวงฯได้มีนโยบายให้ปรับรูปแบบระบบรถ เพื่อลดวงเงินลงทุนก่อสร้าง ทำให้โครงการล่าช้าออกไป จึงต้องรอฟังนโยบายนายสุริยะว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบระบบรถแบบใด จากนั้นระบบขนส่งมวลชนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก ก็จะเดินหน้าต่อได้ โดยปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ และนครราชสีมาได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน จังหวัดพิษณุโลกอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษา
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคมกล่าวว่าได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปจัดลำดับความสำคัญโครงการที่จะทำเร่งด่วนมาให้พิจารณา โดยเฉพาะโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง คือ สายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448 ล้านบาท, สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท ที่ รฟท.กำลังทบทวนตัวเลขการลงทุน
“ผมมองว่าทั้ง 3 ส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดง มีความเหมาะสม ที่จะดำเนินการ และได้ให้นโยบาย ว่าหากก่อสร้างส่วนต่อขยาย ควรศึกษาเส้นทางในส่วนต่อขยายเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้เป็นการพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่ และเพิ่มระยะทางการบริการ ประชาชนในการเดินทางจากนอกเมืองเข้าเมืองด้วยระบบราง ส่วนรูปแบบในการลงทุน จากเดิมที่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) ต้องให้ รฟท.พิจารณาว่า จะจูงใจเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหรือไม่ หากไม่ได้รับความสนใจจากเอกชน การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจาก PPP มาเป็นการเปิดประมูลแบบทั่วไป ก็สามารถทำได้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่