ทวงลดค่าไฟ 3.99 บาท กกพ.ชี้รอ ปตท.-กฟผ.เคาะเงื่อนไขใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทวงลดค่าไฟ 3.99 บาท กกพ.ชี้รอ ปตท.-กฟผ.เคาะเงื่อนไขใหม่

Date Time: 2 ต.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • ชาวบ้านทวงลดค่าไฟหน่วยละ 3.99 บาท และน้ำมันเบนซินราคาพิเศษ หวั่นรอเก้อ ด้าน กกพ. รีบแจงรอ ปตท.–กฟผ. เคาะเงื่อนไขใหม่ได้ปุ๊บพร้อมชงบอร์ดประกาศลดค่าไฟย้อนหลังให้ทันที ส่วนเบนซินอยู่ระหว่างเร่งทำหลักเกณฑ์ให้รอบคอบ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มมีประชาชนตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการการปรับลดค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ตามมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้เรียกเก็บจากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาท เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป แต่จนถึงปัจจุบันนี้เข้าสู่เดือน ต.ค.แล้ว ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่ประกาศลดค่าไฟเดือน ก.ย.อย่างเป็นทางการออกมาแต่อย่างใด ซึ่งประชาชนต่างรออย่างใจจดใจจ่อว่า ค่าไฟอัตราใหม่จะมีผลเป็นทางการเมื่อไร หรือว่าการประกาศปรับลดของ ครม. ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีปัญหากฎหมาย รวมทั้งนโยบายลดราคาเบนซิน ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เช่น วินจักรยานยนต์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มขนส่ง ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ขณะที่มีรายงานจาก กกพ.ว่า ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรอรายละเอียดเงื่อนไขต้นทุนใหม่จาก บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เบื้องต้นทั้ง 2 หน่วยงานต้องนำหลักเกณฑ์ใหม่เสนอคณะกรรมการ หรือบอร์ดอีกครั้ง แต่ยังยืนยันว่า ถ้าทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการตามมติ ครม.การปรับลดค่าไฟงวดสุดท้ายของปีให้เหลือหน่วยละ 3.99 บาท เป็นไปได้แน่นอน ยกเว้นกรณีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันใหม่ว่าจะลดได้หน่วยละ 3.99 บาทหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 แต่รัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งแบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลาย จึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

ส่วน กฟผ.ที่ต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง ก่อนหน้านี้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้าง ซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น เมื่อ ครม.มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ.จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างนี้ไปก่อน

“ตอนนี้ต้องรอให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เสนอราคาก๊าซธรรมชาติ และการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างใหม่มาให้ กกพ.อีกครั้ง หากส่งเรื่องมาให้แล้ว จากนั้น กกพ.ก็จะเสนอเข้าบอร์ดอีกครั้ง เพื่อให้อนุมัติการเก็บค่าไฟงวดใหม่กับประชาชน จากนั้นต้องแจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้า ซึ่งสามารถย้อนหลังงวดเดือน ก.ย.ได้ แม้ค่าไฟงวดใหม่จะเป็นเดือน ต.ค. แล้วก็ตาม”

นอกจากนี้ มีรายงานว่า กรมธุรกิจพลังงาน กำลังทำนโยบายลดราคาเบนซิน ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอยู่ ซึ่งในส่วนของรถจักรยานยนต์น่าจะทำคล้ายโครงการวินเซฟ ซึ่งเคยทำมาแล้ว ส่วนจะลดราคาน้ำมันเบนซินเท่าไร หรือเงื่อนไขแบบไหน จะแจ้งรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนราคาน้ำมันพิเศษกลุ่มเกษตรกรต้องประสานหลายหน่วยงานรวมถึงการทำเงื่อนไขว่า เกษตรกรกลุ่มไหนเข้าข่ายบ้าง คาดว่าจะส่งเรื่องให้ รมว.พลังงานได้ในเดือนนี้ เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล.


อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ