“การบินไทย” ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” รุกเส้นทางใหม่อิสตันบูล เพิ่มเที่ยวบินญี่ปุ่นรับหนาว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“การบินไทย” ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” รุกเส้นทางใหม่อิสตันบูล เพิ่มเที่ยวบินญี่ปุ่นรับหนาว

Date Time: 28 ก.ย. 2566 06:50 น.

Summary

  • “การบินไทย” เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” ม.ค.67 เร่งหาฝูงบินให้ครบ 95 ลำตามแผนฟื้นฟูภายในปี 70 เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ “อิสตันบูล” บุกตลาดตุรกี รับประชากร 85 ล้านคน ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ รุกคืบตลาดแดนปลาดิบ ลุยเพิ่มความถี่ รับไฮซีซัน เล็งหารือฝ่ายการตลาดหวังบูมท่องเที่ยว “ซัปโปโร” เที่ยวได้ตลอดทั้งปี

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า การบินไทยจะเร่งควบรวมกิจการและโอนย้ายเครื่องบินจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) มายังการบินไทยให้ได้สำเร็จภายในเดือน ม.ค.2567 ทำให้ไม่มีเที่ยวบินที่เป็นโค้ด WE ซึ่งเป็นโค้ดของสายการบินไทยสมายล์แล้ว แต่จะปรับเป็นโค้ด TG ของสายการบินไทยทั้งหมด

ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” ต้นปี 67

โดยล่าสุด การบินไทยได้มีการโอนเครื่องบิน แอร์บัส A320 จากไทยสมายล์มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ ซึ่งคาดว่าจะครบ 20 ลำ ภายใน ม.ค. 2567 ขณะที่ได้ทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินของไทยสมายล์มาด้วย ดังนั้น ในปัจจุบันการบินไทย จึงเริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศของไทยสมายล์แล้ว 8 เส้นทาง ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ พนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา ขณะที่ยังเหลือเส้นทางบินไปยังประเทศเวียดนามอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ ส่วนเส้นทางภายในประเทศของไทยสมายล์ การบินไทยจะทยอยทำการบินรวม 9 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. เป็นต้นไป เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่า

สำหรับแผนการจัดหาฝูงบินของการบินไทย ปัจจุบันมีเครื่องบิน 76 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว รวมการโอนฝูงบินของไทยสมายล์ 20 ลำแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จะต้องจัดหาให้ครบ 95 ลำ ภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน จะมีเครื่องบินที่กำลังจะหมดสัญญาเช่า 5 ลำ การบินไทยจึงจะต้องจัดหาอีก 14 ลำ โดยจะเป็นการเช่า โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER, โบอิ้ง 787, แอร์บัส A350 หรือแอร์บัส 330

“ยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดในขณะนี้ แต่ละสายการบินต่างหาเครื่องบินไกลขนาดใหญ่ลำตัวกว้างไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสารอนาคต ส่งผลให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละสายการบิน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการจัดหาฝูงบินจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เพียงพอในอุตสาหกรรมการบินโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ปี”

เปิดรูทบินใหม่บุกตุรกีสู่ “อิสตันบูล”

นายชายกล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ การบินไทย เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล (ตุรกี) โดยทำการบินด้วยแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางอิสตันบูลกว่า 70% โดยอิสตันบูล ประเทศตุรกีนั้น จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของผู้โดยสารที่จะสามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆได้ พราะเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ขณะเดียวกัน การเปิดเส้นทางดังกล่าว นอกจากจะเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และออสเตรเลีย ทั้งยังสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างตุรกีกับประเทศอื่นๆในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน

นายชายยังกล่าวถึงตลาดการบินในเส้นทางญี่ปุ่นด้วยว่า อุตสาหกรรมการบินประเทศญี่ปุ่นในภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง และถือเป็นตลาดการบินที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชียเหนือ โดยตลาดญี่ปุ่นครองสัดส่วนไปถึง 20% ของเส้นทางที่การบินไทยทำการบินทั้งหมด ขณะที่ยุโรป 30%, เอเชียใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย) 13%, เอเชียตะวันตก-ตะวันออกกลาง 10% และเส้นทางภายในประเทศ 27%

ในปัจจุบันการบินไทยทำการบินสู่ประเทศญี่ปุ่น รวม 6 เส้นทางบิน ได้แก่ โตเกียว (นาริตะ/ฮาเนดะ) นาโกยา โอซากา ฟุกุโอกะ และซัปโปโร โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ/ฮาเนดะ) ถือเป็นตลาดที่ทำรายได้มากที่สุดเนื่องจากเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น ทำให้มีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในช่วง ต.ค.2566 ซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาวและฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) คาดว่าเส้นทางญี่ปุ่นจะมีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยการบินไทยมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวในตารางบินฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.2566-30 มี.ค.2567 รวม 6 เส้นทาง จำนวนรวม 63 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ปลุกตลาด “ซัปโปโร” เที่ยวได้ทั้งปี

“ปัจจุบันการบินไทยทำการบินเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ในตารางบินฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 2 ส.ค.-28 ต.ค.2566 ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 787-9 สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ทั้งนี้ ในตารางบินฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566-30 มี.ค.2567 จะเปิดทำการบินทุกวัน ส่วนยอดจองตั๋วล่วงหน้าในช่วงฤดูหนาวเส้นทางบินประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง ต.ค.-พ.ย.2566 มีไม่ต่ำกว่า 40-50% แล้ว จากปัจจุบันที่มียอดจองทั้งหมดประมาณ 60% โดยคาดว่า ในช่วงไฮซีซันจะมีผู้โดยสาร 80-85% แต่ในช่วงฤดูร้อน ยังมีผู้โดยสารเดินทางไปซัปโปโรน้อย

ดังนั้น การบินไทย จึงมีแผนร่วมกับฝ่ายการตลาดกระตุ้นการเดินทางในเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ให้ท่องเที่ยวได้ทุกฤดู ไม่ใช่เฉพาะฤดูหนาว ซึ่งฤดูร้อน สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น ชมความงามดอกไม้หลากสี และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม เช่น บ่อน้ำสีฟ้า น้ำตกหนวดขาว ทุ่งดอกไม้หลากสีของเมืองบิเอะ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศ และประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆสำหรับชาวญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน การบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน หรือแม้กระทั่งยุโรป จึงคาดว่าในปี 2567 นี้ การเดินทางของชาวญี่ปุ่นจะเดินทางมายังไทยเป็นจำนวนมาก.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ