นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณ โดยมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบ 67 และมีแผนจะปรับลดกรอบวงเงินดังกล่าวให้เท่ากับอัตราเดิมภายในปี 2570
ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการแจกเงินดิจิทัลหรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป วงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 556,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และต้องการให้เม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นจริง โดยภายใต้เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินในรัศมี 4 กิโลเมตร (กม.) นั้นไม่ได้เป็นข้อจำกัด ด้วยเหตุเชื่อว่าเม็ดเงินอยู่ตรงไหน ผู้ประกอบการจะเข้าไปหาแหล่งเงินนั้น เช่น รถพุ่มพวงเข้าในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็สามารถใช้จ่าย และมีประชาชนจะรวมกลุ่มที่จะลงทุนขายก๋วยเตี๋ยว ก็ต้องซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบ
“ทันทีที่เราประกาศ ผู้ผลิตต่างๆก็เตรียมการต่อยอดนโยบายด้วยการลงทุนผลิตสินค้าเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและเกิดการจ้างงาน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ การกำหนดระยะทางในการใช้จ่ายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้จ่ายนั้นเกิดเม็ดเงิน
ที่หมุนเวียนในระบบ ทั้งยังสามารช่วยส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะลูกหลานได้กลับบ้านเกิดเพื่อใช้เม็ดเงินดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังมีนโยบายพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะไม่กระทบต่อกรอบวงเงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เนื่องจากสิ้นปีงบประมาณ 2566 จะมีวงเงินใช้คืนจากโครงการที่ใช้ในมาตรา 28 มาจำนวนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะนำมาใช้จ่ายเพื่อนโยบายดังกล่าว แต่กรณีโครงการแจกเงินดิจิทัลที่ใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องขยายกรอบวงเงินตามมาตรา 28
สำหรับการขยายวงเงินตามมาตรา 28 นั้น จะต้องเสนอคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง
ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน พ.ย.นี้
ทั้งนี้ การขยายกรอบวงเงินใช้จ่ายดังกล่าวเป็น 45% เท่ากับว่ารัฐบาลจะมีวงเงินใช้จ่ายเพิ่มอีก 13% จากกรอบเดิม 32% เมื่อคำนวณจากวงเงินงบประมาณปี 67 จะเท่ากับว่ารัฐบาลจะมีวงเงินนอกงบประมาณสำหรับการดำเนินนโยบายราว 4 แสนล้านบาท โดยยังไม่นับรวมเม็ดเงินที่รัฐบาลจะชดใช้คืนจากการใช้เงินตามมาตรา 28 ในปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในทุกรัฐบาลได้ใช้ช่องทางการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อนำมาใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ โดยการใช้จ่ายตามมาตราดังกล่าวจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ โดยปัจจุบัน ณ เดือน ก.ค.66 อยู่ที่ 61.69% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี)