เรียกได้ว่าเป็นก้าวใหม่ ก้าวใหญ่สำหรับประเทศไทยในเวทีโลก หลังมีรายงานว่า เมื่อเวลา 11:30 น. วันที่ 19 ก.ย. 2566 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าพบหารือกับลาร์รี ฟิงก์ (Larry Fink) ซีอีโอ กลุ่มบริษัท BlackRock ผู้นำในการบริหารการเงิน และการลงทุนที่มีอิทธิพลระดับโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนสหรัฐฯ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย
โดย ซีอีโอ BlackRock ให้ความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Linked Bond) ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย และมีแนวโน้มในการลงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็วๆ นี้
Thairath Money ชวนทำความรู้จักบริษัท BlackRock ทรงอิทธิพลขนาดไหน นายกรัฐมนตรีเศรษฐาถึงต้องเข้าพบ
รู้จัก BlackRock
BlackRock (แบล็กร็อก) เป็นบริษัทจัดการการลงทุนสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งโดย ลาร์รี ฟิงก์และเพื่อนในปี พ.ศ. 2531 ต่อมาในปี 2542 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) โดยปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ และกลายเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ที่มีสำนักงาน 70 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลก
โดยแบล็กร็อกมีรายได้หลักมาจากการให้บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน ค่าธรรมเนียมการบริหาร การให้ยืมหุ้น การให้บริการด้านเทคโนโลยี และรายได้จากการทำการตลาดและขายหุ้น
ในปี 2549 แบล็กร็อกได้เข้าซื้อกิจการของ Merrill Lynch Investment Managers ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของบริษัทและขยายอิทธิพลในฐานะบริษัทจัดการการลงทุน ต่อมาได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Barclays Global Investors ในปี 2552 ซึ่งรวมถึงธุรกิจ iShares ETF ที่กลายมาเป็นธุรกิจที่โดดเด่นภายใต้การบริหารของแบล็กร็อกในปัจจุบัน
ซึ่งการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เหล่านี้เอง ที่ผลักดันให้แบล็กร็อกขึ้นมาเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ชั้นนํา ที่นําเสนอผลิตภัณฑ์ และมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย
อีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบล็กร็อกประสบความสำเร็จจนกลายเป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่ทรงอิทธิพลระดับโลก คือ ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี นั่นก็คือการมีระบบอะลาดิน (Aladdin) แพลตฟอร์มเทรดดิ้ง ที่เชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนทุกอย่างบนโลก พร้อมเครื่องมือด้านการเทรดทรัพย์สินต่างๆ ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งทำให้แบล็กร็อกสามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพคล่องของตลาดและจัดระเบียบข้อมูล ช่วยในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและหาโอกาสการลงทุน เพื่อการบริหารพอร์ต
ระบบอะลาดิน ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยี ที่ผลักดันการเติบโตของแบล็กร็อก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยให้บริการเป็นโฮสต์ รวมท้ังโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคนิค ระบบการจัดการที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลของตลาดทุนไว้เบื้องหลัง ซึ่งระบบอะลาดิน แบ่งออกเป็น 2 หน่วย ได้แก่ อะลาดิน เอ็นเทอร์ไพรซ์ (Aladdin Enterprise) ที่ให้บริการสำหรับนักลงทุนสถาบัน และอะลาดิน เวลท์ (Aladdin Wealth) ที่ให้บริการสำหรับการบริหารความมั่งคั่ง
ปัจจุบันมีการใช้งานระบบอาละดิน โดยองค์กรมากกว่า 200 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมกองทุนบำเหน็จบำนาญ ผู้จัดการสินทรัพย์ ธนาคาร โดยในปี 2563 มีการบริหารทรัพย์สินต่างๆ ทั่วโลกในปริมาณรวมกันมากถึง 21.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และยังสร้างยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ที่ผ่านมา