นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศแผนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีเป้าหมายวันละ 400 บาท จากปัจจุบัน 352-354 บาทต่อวัน ว่า หากใช้ค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลเป็นฐาน หากปรับเป็น 400 บาท จะเพิ่มขึ้นวันละ 47 บาท หากนายจ้างที่จ้างงาน 100 คน จะมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นปีละ 1.7 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนไม่เห็นด้วย เพราะค่าจ้างที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนของนายจ้าง โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี จึงขอให้รัฐบาลทบทวนอัตราให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และไม่ควรปรับเท่ากันทั้งประเทศ อีกทั้งค่าจ้างที่สูง จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนมากมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) บางรายกำลังปรับโครงสร้างหนี้ การปรับค่าจ้างที่ไม่เหมาะสมจะกระทบต่อนายจ้างด้วย แม้เข้าใจดีว่า ค่าจ้างที่สูงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของลูกจ้าง แต่ควรจะปรับอย่างไรให้เหมาะสม ถ้าปรับเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้การลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ห่างไกล ขณะที่อุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) อาจสูญเสียความสามารถการแข่งขัน และอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้น
“รัฐต้องยกระดับคุณภาพแรงงานให้วิ่งตามทันค่าจ้าง ไม่เช่นนั้นต้นทุนจะไปอยู่ในราคาสินค้า จึงฝากไปถึงรัฐบาล ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ธุรกิจรายได้หด ขาดสภาพคล่อง จึงไม่ใช่ช่วงจังหวะที่จะปรับค่าจ้างแบบประชานิยม แต่ควรส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานสอบเทียบทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรับค่าจ้างอัตราที่สูง”.