ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเดินหน้านโยบายการสร้างรายได้ภาคการเกษตร ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยจะเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเดินหน้าสะสางปัญหาของเกษตรกรที่สะสมมานาน ตามแผนระยะสั้น กลาง และยาวของรัฐบาล หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.66
สำหรับแผนระยะสั้น ได้แก่ การพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม และมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สิน เร่งแก้ปัญหาการทำประมง โดยต้องทำตามกฎการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) รวมทั้งแก้ไขกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงให้เหมาะสม เพื่อเร่งฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ และแก้ปัญหาค้างเก่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่
“หลังรัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว กระทรวงต้องเร่งทำงานให้บรรลุเป้าหมาย สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โจทย์ใหญ่คือ ลดต้นทุนให้มากที่สุด เพื่อให้เหลือส่วนต่างเป็นรายได้สุทธิมากที่สุด พร้อมแก้ปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) เร่งทำให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน และพิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด”
ส่วนแผนระยะกลางและระยะยาว คือ การบริหารจัดการภาคเกษตร ที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กลไกราคา แหล่งเงินทุน นวัตกรรม และกรรมสิทธิ์ที่ดินของเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเศรษฐกิจ และแปรรูปพืชเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคเกษตร, บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ, บริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ, วิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น เป็นต้น
ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อย ในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า ตัวแทนชาวไร่ทั่วประเทศเตรียมเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส เพื่อหารือถึงแนวทางการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยย้ายมาอยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯแทน จากปัจจุบันอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะมีปัจจัยการสนับสนุนมากมาย สามารถยกระดับผลผลิตอุตสาหกรรมอ้อยให้มีศักยภาพมากขึ้นได้ในระยะยาว
“กระทรวงเกษตรฯดูแลภาคเกษตรโดยตรง มีงบประมาณโดยตรงในการพัฒนา และอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือเกษตรกรก็ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนในแง่กฎหมาย อาจตราเป็น พ.ร.บ.ใหม่ หรือปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อย เพื่อให้ย้ายไปได้ ยอมรับว่าอาจใช้เวลา แต่หากรัฐบาลเห็นด้วย ทุกอย่างก็จะเร็วขึ้น”
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยและทั่วโลกเผชิญปรากฏการณ์ เอลนีโญ คาดว่าการผลิตอ้อยฤดูหีบปี 66/67 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ผลผลิตอาจเหลือต่ำกว่า 70 ล้านตัน จากปี 65/66 ที่ 93.88 ล้านตัน และฤดู 67/68 ยังมี แนวโน้มลดลงอีกจากภัยแล้งที่คาดจะรุนแรงขึ้น ประกอบกับชาวไร่อ้อยบางส่วนหันปลูกมันสำปะหลัง ที่ราคาสูงกว่า และดูแลง่ายกว่าการปลูกอ้อย
“ผลผลิตอ้อยที่ลดลง ทำให้อินเดียงดส่งออกน้ำตาลทรายในเดือน ต.ค.นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกสูงขึ้น ต้องติดตามผลผลิตของบราซิล แต่ของไทยลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ จากเดิมมองไว้ถึง 80 ล้านตัน ซึ่งราคาน้ำตาล โลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคา อ้อยขั้นต้นปี 66/67 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 บาทต่อตัน ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. แม้ว่าราคาดี แต่ปริมาณที่ลดลง และต้นทุนที่เพิ่ม ก็ไม่ได้ทำให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์เต็มที่นัก”.