นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ส.ค.66 ของไทยมีอัตราต่ำอยู่ในอันดับ 8 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข โดยดัชนีเท่ากับ 108.41 เพิ่มขึ้น 0.55% เทียบเดือน ก.ค.66 และสูงขึ้น 0.88% เทียบเดือน ส.ค.65 จากเดือนก่อนหน้านี้ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.38% สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ เช่น เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก สองแถว ที่ และค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง
“ส่วนเดือน ก.ย.66 เงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับขึ้นเล็กน้อย จากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้อาจส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญได้เช่นกัน เช่น การลดค่าครองชีพ ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ที่หากออกมาเร็วจะช่วยฉุดให้เงินเฟ้อลดลง”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เงินเฟ้อเดือน ส.ค.66 ที่สูงขึ้น 0.55% เทียบกับเดือน ก.ค.66 ส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาอยู่ที่ 18,229 บาท เพิ่มจากเดือน ก.ค.66 ที่อยู่ที่ 18,130 บาท หรือเพิ่มขึ้น 99 บาท เช่น ค่าโดยสารสาธารณะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโทรศัพท์มือถือ อยู่ที่ 4,287 บาท จากเดือน ก.ค.66 ที่ 4,208 บาท, ค่าเช่าบ้าน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม 4,040 บาท จาก 4,037 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,255 บาท จาก 1,254 บาท, ผัก ผลไม้ 1,051 บาท จาก 1,027 บาท, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ 683 บาทจาก 679 บาท เป็นต้น.