ข้อดี-ข้อเสีย “พักหนี้เกษตรกร” หายจนถาวร? หรือเพิ่มกับดักหนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ข้อดี-ข้อเสีย “พักหนี้เกษตรกร” หายจนถาวร? หรือเพิ่มกับดักหนี้

Date Time: 1 ก.ย. 2566 12:30 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Latest


ยังคงปลุกความหวังคนไทย ประกาศเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลใหม่ จะทำทันที หลังดีเดย์ ประชุม ครม.นัดแรก นอกจาก มีความชัดเจนแล้วว่า “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” จะดำเนินการได้ ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 คงอดใจรอกันอีกนิด ขณะ “มาตรการลดค่าไฟฟ้า-ลดราคาน้ำมัน” นั้น คาดคงจะมีรายละเอียดออกมาในช่วงสัปดาห์หน้า 

พร้อมเดินหน้า “พักหนี้” ให้กับเกษตรกร นโยบายเร่งด่วนของเพื่อไทย

ล่าสุด วานนี้ พรรคเพื่อไทย โดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย “นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรับฟังและหารือนโยบายร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกี่ยวกับ สถานการณ์หนี้สินของเกษตรกร และแนวทางการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการพักชำระหนี้  โครงการปรับระบบการจูงใจเกษตรกรสำหรับการนำเทคโนโลยีและการเพาะปลูกใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มองนโยบายการพักชำระหนี้เกษตรกร เป็นนโยบายจำเป็นและเร่งด่วนของพรรค เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเบื้องต้น เชื่อว่า ธ.ก.ส. มีศักยภาพและพร้อมรับนโยบายใหม่ 

สำหรับเป้าหมายของการพักหนี้นั้น “เศรษฐา ทวีสิน” ระบุว่า เพื่อให้เกษตรกร ได้มีโอกาสหารายได้ใหม่ ลดภาระเกษตรกรเฉพาะหน้าและมีโอกาสหารายได้ใหม่ เปรียบเหมือนการช่วยกู้ชีวิตคนจมน้ำให้มีกำลังสู้ต่อ 

อย่างไรก็ดี หลักสำคัญ ปรัชญาของนโยบายพักชำระหนี้ของพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า จะคำนึงถึงด้านวินัยทางการคลังและวินัยของลูกหนี้ เพื่อป้องกัน Moral Hazard (วิกฤติด้านจริยธรรม) นอกจากนี้จะต้องสอดแทรกเงื่อนไขที่จะทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรที่กำลังเผชิญความท้าทายจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ภาวะหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนประสิทธิภาพทางด้านผลผลิตต่ำ เป็นต้น 

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอก กับเป้าหมาย รายได้เพิ่ม 3 เท่า ในปี 2570 

เจาะรายละเอียด แนวคิด “นโยบายพักหนี้เกษตรกร” ของพรรคเพื่อไทยนั้น ถูกวางเอาไว้ ภายใต้เป้าหมาย ต้องการเพิ่มรายได้เกษตรกร เป็น 3 เท่าภายในปี 2570  อธิบายให้เห็นภาพ ก็คือ จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี  

โดยเพื่อไทย ชี้ว่า เกษตรกรไทย เจอกับความยากลำบาก ทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ เมื่อเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับ จึงทำให้ ปัจจุบัน รายได้ของเกษตรกร แทบเหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ และการยังชีพอย่างมีคุณภาพ 

ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำไปพร้อมๆ กัน ก็คือ พรรคเพื่อไทยจะสร้างระบบยืนยันราคา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต รายได้ (สุทธิ) ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 3 เท่าของที่เคยได้รับ

นโยบายพักหนี้ หนทาง “หายจนถาวร”?

ความเชื่อของเพื่อไทย ที่กำลังจะถูกผลักดันเป็นนโยบายพักหนี้ออกมานั้น หากอ้างอิงตามที่เคยหาเสียงไว้ จะผ่านการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกทันที และอยู่บนหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ได้แก่ 

  • สร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตร
  • ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต
  • ใช้นวัตกรรม Blockchain เพื่อประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรด้วยการให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรควรได้รับ 

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด แก้กฎหมาย จัดหาที่ดินทำกิน ให้กับประชาชนทุกคน โดยจะเร่งรัดออกโฉนดในพื้นที่พิพาท เป้าหมาย 50 ล้านไร่ด้วย 

ข้อดี-ข้อเสีย พักหนี้ให้เกษตรกรไทย 

เจาะความน่าสนใจ และผลลัพธ์ของนโยบายพักหนี้ อาจมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แฝงอยู่ โดยปัจจุบันประชากรไทยกว่า 40% อยู่ในภาคเกษตร แต่ตามข้อมูล พบว่า มีรายได้เพียงประมาณ 8% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเพราะจากหลายปัจจัยเกี่ยวพัน รวมไปถึง การแก้ปัญหาในภาคเกษตรยังไม่ถูกจุด จึงทำให้เกษตรกรไทยอยู่ในวงเวียนวัฏจักรของความยากจน 

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุ เกษตรกรไทย มีหนี้สินกันเป็นวงกว้าง มีหนี้เฉลี่ยมากถึงกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากพฤติกรรมการชำระหนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ของเกษตรกร พบว่ามีเพียง 28% ที่สามารถจ่ายตัดต้นได้บ้าง แต่กว่า 56% กำลังพยุงปัญหาหนี้โดยการชำระหนี้คืนเพียงเล็กน้อยตลอดมา และ 16% ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย ดังนั้น หากมองให้ลึก ปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรังที่มีแนวโน้มปิดจบได้ยาก

อย่างไรก็ดี นักวิชาการ อย่าง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยวิเคราะห์ ประเมินข้อดี-ข้อเสีย ของเรื่องการพักหนี้ ไว้ว่า ... อาจต้องยอมรับว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้กันทุกรัฐบาล แต่ทำไมหนี้เกษตรกรไม่หมดซะที

โดยวิเคราะห์ ว่า นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร อาจสามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีนโยบายเพิ่มรายได้ควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้น จะไม่ต่างกับการสร้าง กับดักหนี้ให้กับเกษตรกร

อีกแง่ที่อาจต้องคิด และหาทางออก เพราะเมื่อพักหนี้ เกษตรกรจะไม่สามารถกู้เงิน ธ.ก.ส. มาลงทุนใหม่ได้ การหารายได้เพิ่มก็ไม่เกิดตาม ทำให้การสะสมทรัพย์สินของเกษตรกรพักหนี้ มีน้อยกว่าคนไม่พักหนี้ 

แม้ว่าที่ผ่านมาๆ นโยบายพักหนี้ จะช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นภาวะวิกฤติ ไม่ล้มละลาย, ลดความเครียดให้เกษตรกร แต่ก็อาจทำให้ เกษตรกรขาดความสามารถในการบริหารธุรกิจทั้งด้านทักษะการผลิต การตลาดและการบริหารเงิน จึงยิ่งทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือไม่? ฉะนั้น สิ่งสำคัญ ก็อาจเป็น การผลักดันเรื่องแนวทางการเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการพักหนี้ ให้เกิดขึ้นจริงในได้ ตามแนวทางของรัฐบาลใหม่ ดังที่กล่าวอ้างมาข้างต้นด้วย 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ