นโยบายเพื่อไทย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย  อาจต้องใช้งบปีละ 5,446 ล้าน รอ รัฐบาล เคาะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นโยบายเพื่อไทย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจต้องใช้งบปีละ 5,446 ล้าน รอ รัฐบาล เคาะ

Date Time: 28 ส.ค. 2566 17:04 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Latest


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศว่า หากมาเป็นรัฐบาล จะเดินหน้าจัดเก็บค่าโดยสารผู้ที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.)

ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์ กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยมีการศึกษาตามกลุ่มเป้าหมายผู้เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ใน 2 กรณี คือ

1. กลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป

2. กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป หากรัฐจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย คาดว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐรวม 5,446 ล้านบาท/ปี ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าจะต้องใช้เงินจากภาครัฐอุดหนุน รวม 307.86 ล้านบาท/ปี

 

ทั้งนี้ ในผลการศึกษาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองของโครงการศึกษา เพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) หากรัฐจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายให้กับประชาชนทั่วไปมาใช้บริการ พบว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มได้ประมาณ 104,296 คน-เที่ยว หรือ 9.59% และเมื่อวิเคราะห์เงินที่ต้องอุดหนุนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ จะต้องใช้เงินอุดหนุน 17.47 บาท หรือประมาณ 17 บาทต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระบบ คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนรวม 5,446 ล้านบาท/ปี

 

ส่วนกรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสาย สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น

ทาง ขร. ได้ประสานกรมบัญชีกลาง เพื่อขอข้อมูลจำนวนผู้มีรายได้น้อย (เทียบเคียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ) เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกับประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยเมื่อพิจารณาจากแบบจำลองฯ จะพบว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,061 คน-เที่ยว หรือ 0.56% และเมื่อวิเคราะห์เงินที่ต้องอุดหนุนกรณีผู้มีรายได้น้อย จะต้องใช้เงินอุดหนุน 34.63 หรือประมาณ 35 บาทต่อคน ดังนั้นเมื่อสรุปรวมจะพบว่า รัฐต้องใช้เงินอุดหนุนกว่า 307.86 ล้านบาท/ปี 

 

นอกจากนั้นในผลการศึกษายังระบุอีกว่า ประโยชน์ของนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านจราจรและขนส่ง และผลประโยชน์อื่นๆ ทั้งเรื่องของการลดระยะเวลาการเดินทางบนถนน/ลดปัญหาการจราจรติดขัด, ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน, ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศ, ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน, ส่งเสริมการใช้ระบบราง นอกจากนั้นยังส่งเสริมแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 โดยการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง

 

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงคมนาคมต้องดำเนินการให้มีการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายโดยเร็ว ขั้นตอนต่อไป กระทรวงคมนาคมจะต้องหารือกับหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การดำเนินงาน ด้วยความรอบคอบ คุ้มค่า และเหมาะสม โดยจะได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลใหม่ เพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไปในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. เกณฑ์และแนวทางในการกำหนดอัตราค่าโดยสารราคา 20 บาทตลอดสาย 2. กลุ่มเป้าหมายของการให้สิทธิค่าโดยสารราคา 20 บาทตลอดสาย 3. ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน และความคุ้มค่าของโครงการ 4. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5. งบประมาณอุดหนุนและชดเชยให้กับผู้ประกอบการ 6. นโยบายเจรจากับผู้ประกอบการเดินรถคิดค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสาย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ