8 งานเร่งด่วนของ “เศรษฐา ทวีสิน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

8 งานเร่งด่วนของ “เศรษฐา ทวีสิน”

Date Time: 29 ส.ค. 2566 07:10 น.

Summary

  • สแกน 8 งานเร่งด่วน ของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้ การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" กับ เป้าหมายวางไว้ ประเทศไทยต้องเปลี่ยน คนไทยต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ชูนโยบายเศรษฐกิจ ตั้งแต่ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท , พักหนี้เกษตรกร ,ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน เรื่อยไปจนถึง มาตรการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ โจทย์หินที่ต้องทำทันที!

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

เป็นฤกษ์งามยามดีที่ประเทศชาติ และคนไทย ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะกลายเป็นศูนย์รวมความหวังของคนในชาติ

เพราะเริ่มต้นยกแรก เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลวาระพิเศษ หรือ จะเรียกอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ซึ่งรวมเอาพรรคการเมืองในความแตกต่างทางความคิด การแบ่งแยกขั้วอำนาจเก่า ใหม่ ตลอดจนถึงการส่งความรัก ความเกลียดชังที่มีมาอย่างยาวนานผ่านสีเสื้อ และการต่อสู้กันในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถหันหน้าเข้าหากัน และจับมือร่วมงานกันสำเร็จ

ภายใต้เป้าหมายว่า ประเทศต้องเปลี่ยน และคนไทยต้องได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐา และทีมเศรษฐกิจผู้คร่ำหวอด รวมถึงคณะทำงานจำนวนมาก จึงร่วมกับข้าราชการกระทรวงสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะดำเนินนโยบายหลายด้านเป็นการล่วงหน้า และที่ผ่านมาก็นับว่า เป็นไปด้วยดี

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในบริบทที่ต้องเร่งดำเนินการทันทีหลังการถวายสัตย์ ก็คือ

1.เติมเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ในกระเป๋าคนไทยที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไปจำนวน 55-56 ล้านคน ในวงเงินคนละ 10,000 บาท

2.ตั้งคณะทำงานปรับลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ทั้งในส่วนของค่าไฟฟ้า และน้ำมัน

3.พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และช่วยเหลือ SMEs ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคโควิด

4.ตั้งคณะทำงานสร้างรายได้ การจัดหารายได้เป็นการเร่งด่วนอันดับแรกคือ รายได้จากการท่องเที่ยว เริ่มจากการแก้ไขปัญหาการให้วีซ่าเข้าประเทศไทย การบริการภาคพื้นดินอันเป็นด่านหน้าของการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดของการต้อนรับนักท่องเที่ยวมานาน

5.ปรับเงื่อนไขดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้าราชอาณาจักรไทย โดยเหตุที่มีนักลงทุนรายใหญ่จากหลายประเทศในเอเชียมีความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย แทนที่จะไปลงทุนในสิงคโปร์ หรือ ดูไบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว รัฐบาลก็อยากจะดึงนักลงทุนเหล่านี้เข้ามายังประเทศไทย โดยการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรค

6.แก้ไขอุปสรรคการออกใบอนุญาตการลงทุนสร้างโรงงานในพื้นที่พัฒนาภาคตะวันออกเฟสที่ 2 หรือ ที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจ (EEC) เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้

7.เพิ่มรายได้ภาคเกษตรกรรมไทยเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี ด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าว ปรับโซนนิง เพิ่มการปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเอาการตลาดนำการเพาะปลูกให้เป็นเกษตรก้าวหน้า กรณีนี้ยังเน้นไปยังการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ และส่งออกจากที่ประเทศไทยเน้นแต่การเลี้ยงหมูและไก่ ต่อไปจะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงโคเพื่อส่งเนื้อไปแข่งขันในตลาดโลก

8.สร้างรายได้จากมันสมอง และสองมือ ด้วยการค้นหาศักยภาพภายในทั้งทางด้านอาหาร ศิลปิน ครีเอทีฟ ที่เป็น Soft Power ของไทย

สำหรับนโยบายที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก อย่าง เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้ใช้เงินคริปโต หรือคูปองอย่างที่เข้าใจ จึงไม่ต้องขออนุญาตจากแบงก์ชาติ ส่วนเงินจะมาจากไหน คำตอบง่ายๆคือ จากงบประมาณแผ่นดินที่ตรวจทานกับกระทรวงการคลังแล้วพบว่า การจัดเก็บภาษีปีนี้ได้เกินมาราว 270,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในเฟสแรกช่วงเดือน เม.ย.ปีหน้า

ส่วนที่เหลือจะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลที่หมุนกลับมาจากเงินก้อนแรก บวกกับเงินค้างท่อต่างๆที่ไม่ได้นำมาใช้ รวมถึงงบจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น สิริรวม 560,000 ล้านบาท

“วิธีการได้มา และใช้เงินจำนวนนี้ จะเหมือนกับโครงการคนละครึ่งหรือการไม่ใช้เงินสดของร้านค้าต่างๆแต่ให้สแกน QR-Code แทนนั่นเอง” คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ช่วยให้คำตอบ

สำหรับการลดภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งคำนวณเบื้องต้นน่าจะลด ค่าไฟให้ประชาชนได้ก่อนหน่วยละ 25-30 สตางค์ จะมาจากการยืดหนี้ของ กฟผ.ออกไป

ส่วนราคาน้ำมัน จำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิต และขยายเพดานการขาดทุนของกองทุนน้ำมันจากที่คุมเข้มไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จะขยายเพดานออกไป โดยมีระยะเวลาจำกัดเพื่อลดภาระในการดำรงชีวิตช่วงหนึ่งเท่านั้น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ นายกฯเศรษฐา ได้หารือกับข้าราชการกระทรวงการคลังผู้ดูแลกระเป๋าเงินของประเทศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ และ ทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโครงการต่างๆให้เดินหน้าไปได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน เรื่องราวเบื้องต้นในการดำเนินนโยบายชุดแรกของรัฐบาล ก็เป็นเช่นนี้แล.

แสงทิพย์ ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ