เปิดแนวทาง 3 ธุรกิจ ขับเคลื่อน Soft power ไทย ไประดับโลก  แนะรัฐบาลสร้าง  Ecosystem ผลักดันการเติบโต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดแนวทาง 3 ธุรกิจ ขับเคลื่อน Soft power ไทย ไประดับโลก แนะรัฐบาลสร้าง Ecosystem ผลักดันการเติบโต

Date Time: 27 ส.ค. 2566 12:44 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money พาส่องแนวทางขับเคลื่อน Soft power ของตัวแทน 3 ธุรกิจไทย จาก 3 อุตสาหกรรม ภายใต้หัวข้อการบรรยาย The Potential of Thai land’s thriving soft power ในงาน Thailand Focus 2023

Latest


ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน Thailand Focus 2023 ครั้งที่ 17 ภายใต้ธีม "The New Horizon" เพื่อให้ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่แห่งการลงทุน แก่ผู้ลงทุนสถาบันกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลก

Thairath Money พาส่องแนวทางขับเคลื่อน Soft power ของตัวแทน 3 ธุรกิจไทย จาก 3 อุตสาหกรรม ภายใต้หัวข้อการบรรยาย The Potential of Thai land’s thriving soft power โดยมีรายละเอียดดังนี้


ปัจจุบันยุทธศาสตร์ใหม่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชูจุดขายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ หรืออำนาจละมุน ผ่านแนวคิด 5F คือ Food (อาหาร) Fashion (แฟชั่น) Fight (ศิลปะการต่อสู้ มวยไทย) Festival (เทศกาล ประเพณี) และ Film (ภาพยนตร์)

จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์ของ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 35 จากทั้งหมด 120 ประเทศ อันดับ 6 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.9% ของ GDP ของประเทศไทย

คุณณรัล วิวรรธนไกร กรรมการบริหาร บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจสปาในประเทศไทยมากว่า 25 ปี กลุ่มลูกค้าของธุรกิจ ปัจจุบันเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ 60% และเป็นลูกค้าชาวไทย 40% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน เป็นต้น ขณะนี้บริษัทพยายามที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป

บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป พยายามสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์อันหลากหลาย ภายใต้หลักการสร้างประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เช่น การเปิดเพลงประกอบที่สอดคล้องกับจังหวะการเต้นของหัวใจ และการปรุงกลิ่นของร้านให้เกิดความผ่อนคลายแก่ลูกค้า หรือการเสิร์ฟข้าวเหนียวมะม่วงเพื่อแนะนำอาหารไทยไปในตัว

แม้การนวดแผนไทยจะเป็น Soft power ที่บริษัทให้ความสำคัญ และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าต่างชาติ แต่ก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการการนวดให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ที่ชื่นชอบความหนักเบาของน้ำหนักมือในการนวดไม่เหมือนกัน แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการบริการแบบเดียวกันทุกสาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้เกิดการผสมผสานทักษะนวดแผนไทยเข้ากับความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้สามารถตอบสนองลักษณะความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และยกระดับความปลอดภัยในการให้บริการ

แม้วิกฤตการณ์โควิดจะสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจสปาซึ่งเป็นธุรกิจที่มีกิจกรรมการสัมผัสสูง ทำให้ร้านสปาต้องปรับตัวเข้าสู่ความเป็นปกติใหม่ แต่การที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนองค์ความรู้การนวดแผนไทย เป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้นั้น ถือเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และหลังจากการฟื้นฟูจากโรคโควิดที่ประชาชนทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ การไปร้านสปาในวันหยุดหรือในเวลาว่างถือเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายกิจกรรมหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าหลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะภาคบริการในช่วงโควิด กระตุ้นให้ปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความรู้ และส่งเสริมเส้นทางอาชีพให้กับพนักงานมากขึ้น เพื่อรักษาแรงงานที่มีฝีมือไว้ เช่นเดียวกับบริษัทที่มีศูนย์ฝึกทักษะ(Academy) เป็นของตนเอง ทำให้พนักงานสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถได้อย่างต่อเนื่องมองเห็นเส้นทางอาชีพของตัวเอง ประกอบกับให้ค่าตอบแทนที่เหมาะ ทำให้ธุรกิจสามารถรักษามาตรฐานการให้บริการไว้ได้ อีกทั้งการนวดแผนไทยยังเป็นทักษะเฉพาะที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยหุ่นยนต์

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจด้านเวลเนสและการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว และการบริการแบบไทยๆ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น ทำให้นักท่องเที่ยวคุณภาพพร้อมที่จะใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ดังกล่าว

ดังนั้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถผลักดันการนวดแผนไทยให้เป็น Soft power ระดับโลกได้


คุณเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน GSV ได้เข้ามาถือหุ้นและได้สิทธิ์ในการบริหารเวทีราชดำเนิน โดยรายได้ธุรกิจมาจาก 2 ส่วน คือสนามมวย ซึ่งมีรายได้มาจากการขายตั๋วรับชมแข่งขันมวยเป็นหลัก นอกจากนั้นก็มาจากอาหารและเครื่องดื่ม ของที่ระลึก ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งมาจากการจัดรายการแข่งขัน การจัดอีเวนต์ และการถ่ายทอดสดการแข่งขันในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ชมส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป และอเมริกา และจากเอเชียประมาณ 35%


จุดแข็งของโกลเบิล สปอร์ต คือมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง คือมีสนามมวยเป็นของตัวเอง ซึ่งสนามมวยราชดำเนินเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลกและเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 78 ปี ทำให้นอกจากใช้จัดการแข่งขันกีฬาแล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาดื่มด่ำเรื่องราวอีกด้วย


ล่าสุด ได้ประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับดะโซน (DAZN) บริษัทสตรีมมิงคอนเทนต์กีฬายักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยไทย รายการราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ (RWS) ที่มีการปรับกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้มีความเป็นสากลและน่าติดตาม ไปสู่ผู้ชมกว่า 200 ประเทศทั่วโลก


ในอนาคตคาดว่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์และสปอนเซอร์จะกลายมาเป็นสัดส่วนรายได้หลัก และมีรายได้เพิ่มเติมจากจากการสร้างพิพิธภัณฑ์ โปรแกรมสอนมวยไทย สำหรับเป้าหมายระยะยาวตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการ international broadcasting ผลักดันให้มวยไทยกลายเป็นกีฬาระดับโลก


สิ่งที่ทำให้สนามมวยราชดำเนินเป็น soft power ได้นั้น คือการรักษาเอกลักษณ์ของสนามมวยราชดำเนินเอาไว้ แม้จะมีการปรับปรุงสถานที่ให้มีความสากล คล้ายโรงละครบรอดเวย์นิวยอร์ก และพัฒนาระบบ แสง สี เสียง แต่ยังมีการคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรม บรรยากาศ และศาสตราวุธที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสนาม และแก่นแท้ความเป็นมวยไทย อีกทั้งศิลปะแม่ไม้มวยไทย ยังเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นภาษาสากล ความอยากรู้ อยากเห็น อยากดูการต่อสู้กันก็เป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของทุกคน ผู้ชมจึงไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษาไทย แต่ก็สามารถรู้ได้ว่าฝ่ายไหนชนะหรือแพ้


คุณเธียรชัย เชื่อว่าในอนาคต มวยไทยจะได้รับความนิยมเหมือน K-Pop แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสนามมวยและกติกาการแข่งขันให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การปรับใช้ระบบ open score เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าถึงกีฬามวยไทยได้มากขึ้น


คุณวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคทจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า S&P เปิดมา 50 ปีแล้ว โดยมีธุรกิจหลักคือร้านอาหารและเบเกอรี่ และยังมีธุรกิจค้าปลีก รวมถึงการส่งออกอาหารไทย และการทำอาหารเพื่อส่งให้กับแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย


ร้าน S&P ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะร้านที่ตั้งอยู่ที่สนามบิน เพื่อตอบสนองลูกค้าที่เป็นนักเดินทางต่างชาติเป็นหลัก
ก่อนหน้าโควิด S&P มีร้านอาหารในต่างประเทศหลายสาขา แต่หลังจากโควิด ปัจจุบันมีร้านภัทรา ซึ่งมี 6 สาขาในลอนดอน ร้านภัทราที่กรุงเวียนนา และร้าน S&P ในพนมเปญ


โดยอาหารที่ร้านในต่างประเทศนั้นจะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในแต่ละที่เป็นหลัก แต่ยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้เครื่องปรุงและวัตถุดิบของไทย มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อนำเอาฟีดแบ็กมาปรับปรุงรสชาติให้ถูกปากลูกค้ามากที่สุด ดังนั้น อาหารชนิดเดียวกันในร้านที่ลอนดอน ก็จะมีรสชาติต่างจากที่เสิร์ฟในกรุงเทพ


คุณวิทูร กล่าวว่า ในช่วงโควิด วัฒนธรมการกินของคนไทยเปลี่ยนไป หันมาสั่งอาหารจากบริการ delivery มากขึ้น ในส่วนของ S&P นั้นก็มีบริการส่งอาหารอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวมาก ช่วงก่อนโควิดบริษัทมีรายได้จาก delivery อยู่ที่ 5% และในช่วงโควิดรายได้เติบโตถึง 25% ปัจจุบันก็รายได้ทรงตัวอยู่ที่ 15% ซึ่งก็ถือว่าโตขึ้นสามเท่าจากช่วงก่อนโควิด และกลายเป็นอีกช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ


ในส่วนของการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น คุณวิทูรอยากให้รัฐบาลช่วยสร้างระบบ eco system ที่ดี ยกระดับมาตรฐานของทุกๆ soft power โดยเฉพาะอาหารไทยที่ต้องเพิ่มคุณภาพในวัตถุดิบ ผักผลไม้ต้องได้มาตรฐาน และอยากให้ประเทศไทยมีโรงเรียนสอนทำอาหาร ผลิตเชฟที่มีคุณภาพระดับสากล เพื่อป้อนแรงงานในส่วนนี้เข้าสู่ตลาดที่กำลังเติบโต เราต้องทำให้คนทั่วโลกคิดว่า ถ้าอยากทานอาหารไทยแท้ๆ ต้องมาที่ประเทศไทยเท่านั้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ