“นิรุฒ” เดินหน้าสานฝันคนไทยได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราชในปี 2571 เส้นทางแรกของประเทศให้เป็นจริง เผยตลอด 3 ปี เดินหน้าพัฒนาและสะสางปัญหางาน “การรถไฟ” ไปได้มาก แต่หากจะยกระดับรถไฟไทยให้ทันสมัยต้องได้เงินเพิ่ม พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลใหม่พิจารณาเพื่อปรับโฉมพลิกฟื้นการรถไฟ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนว่า ในขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในรายละเอียดแล้ว โดยทันทีที่อัยการส่งสัญญากลับมายัง รฟท.จะเร่งดำเนินการลงนามในสัญญากับคู่สัญญาเพื่อเดินหน้าก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว และตั้งเป้าหมายให้การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จทันตามกำหนดการเปิดให้บริการได้ในปี 2570-2571
ทั้งนี้ รฟท.มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเดินทางจากกรุงเทพฯ-โคราชด้วยรถไฟความเร็วสูงใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที จากปัจจุบันรถไฟธรรมดาใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจากการมาดูงานที่ประเทศจีนในครั้งนี้จะเห็นว่าระบบราง การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงมีการพัฒนาไปมาก มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก จากปักกิ่งไปเทียนจิน ใช้เวลาเพียง 30 นาที หากใช้รถไฟธรรมดา จะใช้เวลา 2 ชั่วโมง
เดินหน้าระบบรางความเร็วสูง
ส่วนประเด็นการคัดค้านกรณีการก่อสร้างสถานีรถไฟจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากติดปัญหาจากข้อกังวลของกรมศิลปากรว่า การสร้างสถานีจะบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ในขณะนี้ รฟท.จะยังไม่สร้างสถานีอยุธยาจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องดำเนินการรายงานผลการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสนอต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
“รฟท.จะสร้างระบบรางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปก่อน โดยจะไม่สร้างสถานีจอดรถอยุธยาจนกว่าจะมีความสรุป ถึงแม้ชาวอยุธยาจะต้องการ แต่ยังมีเสียงคัดค้านอยู่ ก็ต้องรอผลให้ครบทุกด้านก่อน เพราะสร้างสถานีใช้เวลาไม่นาน เท่ากับสร้างระบบรางเส้นทาง ดังนั้น รฟท.จะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปพลางก่อน”
วอนรัฐเปลี่ยนแนวคิดบริการเชิงสังคม
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้หารือกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับวิธีการสนับสนุนการบริการเชิงสังคม เพื่อปรับวิธีการการช่วยเหลือประชาชนให้ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และส่งผลดีต่อการบริหารจัดการของการรถไฟ ด้วยการให้การรถไฟฯสามารถปรับขึ้นค่าบริการได้ตามต้นทุนที่แท้จริงขณะที่รัฐบาลใช้วิธีการสนับสนุนหรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายให้การรถไฟให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังของประชาชนโดยตรง
โดยวงเงินที่รัฐจะนำมาใช้อุดหนุนนั้น จะต้องนำมาใช้จ่ายเป็นค่าโดยสารรถไฟเท่านั้น เมื่อรถไฟมีรายได้ มีกำไร ก็สามารถปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น พร้อมปรับปรุงขบวนรถให้เป็นรถแอร์ ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการกิจการรถไฟเพื่อให้ได้บริการที่ดีขึ้นนั้น จะต้องเปลี่ยนแนวคิดการให้บริการเชิงสังคมใหม่ ด้วยการพุ่งเป้าการช่วยเหลือไปยังประชาชนโดยตรง เมื่อรัฐสนับสนุนวงเงินค่าโดยสารให้ประชาชนโดยตรง แล้วประชาชนนำเงินนั้นมาจ่ายค่าบริการโดยสารรถไฟตามต้นทุนที่แท้จริง รถไฟก็จะมีเงินไปลงทุนพัฒนา โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสนับสนุนรถไฟโดยตรง ถือเป็นการบริหารจัดการตามโมเดลธุรกิจแบบมีกำไรไม่มากมาย แต่ก็เลี้ยงองค์กรให้แข็งแกร่ง และมีเงินลงทุนขยายเส้นทาง พัฒนารถไฟให้ทันสมัย และที่สำคัญที่สุดคือ แม้ว่าการรถไฟจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ แต่เชื่อว่ายังราคาต่ำกว่าสายการบิน และรถทัวร์
“ต้องเปลี่ยนวิธีคิดการให้บริการเชิงสังคม ด้วยการให้การรถไฟปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสารตามต้นทุนจริง ส่วนรัฐบาลอุดหนุนประชาชนโดยตรง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านแอปเป๋าตังได้โดยตรง”
ย้ายโรงซ่อมมักกะสันไป “เขาชีจรรย์”
สำหรับปัญหาหนี้สินของการรถไฟในปัจจุบันที่มีอยู่ราวแสนล้านบาท นายนิรุฒกล่าวว่า การแก้ปัญหาจะก็ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมแยกประเภทของหนี้ให้ชัดเจน หนี้สินใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อน ต้องเร่งดำเนินการ เพราะปล่อยไว้นานเกิน จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของการรถไฟไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงจะต้องเร่งนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร
“เมื่อเป็นหนี้ แต่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้รวมทั้งไม่จ่ายดอกเบี้ย ภาระหนี้ก็ต้องทบต้น ทบดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ และเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด ทั้งๆที่มีวิธีการที่จะบริหารจัดการได้ หากทุกฝ่ายจริงจังที่จะแก้ไขปัญหารถไฟจริงๆ เชื่อว่าแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน และการรถไฟจะทันสมัย ประชาชนจะพึงพอใจในการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า ในที่ประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.66 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบย้ายโรงงานซ่อมของรถไฟ จากพื้นที่มักกะสันไปสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตามผลการศึกษาที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ ที่เหมาะสม และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และรองรับการขยายตัวทั้งเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เขตพัฒนาภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหลังจากนี้ รฟท.จะศึกษาออกแบบรายละเอียดและกำหนดวงเงินการลงทุน รวมถึงขั้นตอนการย้ายคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีก 12 เดือน และราวต้นปี 2568 จะมีความชัดเจนมากกว่านี้
สำหรับบริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์มีพื้นที่ 454 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับพื้นที่โรงงานมักกะสัน และมีเส้นทางรถไฟตรงกลาง อนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงผ่านด้วย จึงเป็นโอกาสในการจะพัฒนาฝั่งหนึ่งเป็นโรงงานรถไฟ ส่วนพื้นที่อีกฝั่งพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นที่ดินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
3 ปีกับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ทำเต็มที่
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 3 ปีกว่าที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ตนได้พยายามผลักดันการพัฒนาเส้นทางรถไฟ และระบบรางรถไฟในประเทศไทยอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันสมัย รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากที่สุด อีกทั้งยังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับการทำงานของคน รฟท.ให้ตรงกับงาน แบบ “Put the right man in the right job” ด้วย ซึ่งล่าสุดได้มีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง เชื่อว่าจากนี้ไปการดำเนินงานของการรถไฟจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ผมรับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯใกล้จะครบวาระ 4 ปี ในปลายเดือน เม.ย.67 ที่จะถึงนี้ ซึ่งตลอดระยะการทำงาน ถือว่าได้ทำตามวิสัยทัศน์ที่ได้แสดงไว้เมื่อครั้งรับตำแหน่ง และบางเรื่องซึ่งทำเกินวิสัยทัศน์ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ ทั้งนี้ การเป็นผู้ว่าการการรถไฟฯต้องกล้าตัดสินใจ นำพาองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมมั่นใจว่าผมกล้าตัดสินใจ และได้ทำให้รถไฟดีขึ้นตามลำดับ และเมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว จะสมัครเพื่อเข้ารับตำแหน่งต่อหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวผมตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องรอดูทิศทางการเมืองและรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ”.