ค่าแรง 600 บาท ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง-อสังหาฯ กระทบแน่! ปลายทาง คือ "ราคาบ้าน" พุ่งรอบใหม่ 

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ค่าแรง 600 บาท ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง-อสังหาฯ กระทบแน่! ปลายทาง คือ "ราคาบ้าน" พุ่งรอบใหม่ 

Date Time: 23 ส.ค. 2566 16:18 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เปิดปมร้อน ประเมินข้อดี-ข้อเสีย “นโยบายค่าแรง 600 บาท” ของ พรรคเพื่อไทย เมื่อสัญญาไว้ 4 ปี คนไทยต้องได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะกูรูอสังหาฯ เผย ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง-อสังหาฯ กระทบแน่ เหตุต้นทุนเพิ่ม ปลายทาง คือ ราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้น อีกแง่ หวั่น ผลกระทบใหญ่ กิจการแห่ปิดตัว ซ้ำรอย การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน เหมือนในอดีต

Latest


ถัดจากความร้อนแรง ของ “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” นโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย ที่คนไทย ทวงหามากที่สุดในชั่วโมง ก็คงหนีไม่พ้น “ค่าแรง 600บาท” ซึ่งเพื่อไทย ประกาศ เมื่อครั้งหาเสียงไว้ว่า ภายใต้ปี 2570 หรือ ในอีก 4ปีข้างหน้า จะทำให้คนไทย ผู้ใช้แรงงานทุกคน ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันให้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เศรษฐกิจไทยหรือ GDP จะต้องโตต่อปี ไม่ต่ำกว่า 5% ก่อน 

หัวใจของนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทย ชูว่า นโยบายนี้ “ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน” แต่มีความมุ่งมั่นว่าจะทำให้ เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยจะมีการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ)  ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” 

3 หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก 

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 
  2. ผลิตภาพแรงงาน (Productivity)
  3. อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)

“ค่าแรง 600 บาทต่อวัน” ข่าวดี ผู้ใช้แรงงาน 

ซึ่งในมุมผู้ใช้แรงงานทั่วไป ต้องยอมรับว่า นโยบายขึ้นค่าจ้าง นับเป็นข่าวดี ที่จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบ ค่าครองชีพ ที่กำลังพุ่งปรี๊ดอยู่ในขณะนี้ หลังจาก ค่าแรงคนไทยขยับช้ามาก และโตไม่ทันเงินเฟ้อรายปี โดยปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย อยู่ที่ 328-354 บาท และแตกต่างกันรายจังหวัด ไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น “งาน” ที่อาจแลกมาด้วยเงินที่ได้มากขึ้น จึงเหมือนเป็นความหวัง 

อย่างไรก็ดี ในมุมของเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการรายย่อย เรื่อยไปจนถึง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต่างมีความกังวลในนโยบายนี้กันมาก ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงออกมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่นเดียว กับภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง ที่อาจได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ และ ปลายทางอาจเป็นราคาบ้าน-ราคาคอนโดมิเนียม ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จากนโยบายดังกล่าว 

#ThairathMoney เจาะมุมมองความเห็นของกูรูในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อธิบายภาพ ผลกระทบของการขึ้นค่าแรง 600 บ้าน ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มราคาบ้านไว้อย่างน่าสนใจ 

นโยบายพรรคเพื่อไทย ปรับค่าแรง มีได้-มีเสีย 

โดย “สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ระบุว่า กรณี มีความเป็นได้ ที่ว่ารัฐบาลใหม่ จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน เมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ที่ 5% นั้น น่าติดตาม และพรรคเพื่อไทย คงเลี่ยงได้ยากที่ต้องทำ เพราะเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย อาจจะมีอะไรหลายอย่างที่ตามมาอีก โดยเฉพาะในด้านที่เป็นลบต่อคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่รับค่าแรงขั้นต่ำ และกลุ่มเจ้าของกิจการต่างๆ

ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำเป็นอีก 1 ปัจจัยที่กำหนดค่าครองชีพของทุกประเทศ ทั้งในเรื่องของรายได้ของคนทำงาน และในเรื่องของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ 

โดยในส่วนของฝั่งรายได้ของคนทำงานอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางลบมากนัก เพราะรายได้มากขึ้นก็ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในฝั่งของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการต่างๆ เมื่อค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องหาทางชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

เพิ่มค่าแรง 600 บาท ต่อวัน เสี่ยงกิจการปิดตัว ซ้ำรอยอดีต 

ดังนั้น การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นต่ำอาจจะมีผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นแบบชัดเจน และได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงต่อคนในวงกว้างมากกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุปโภค บริโภคที่ต้องใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าอาหารรูปแบบต่างๆ ปรับเพิ่มราคาขึ้นแน่นอน

สำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้น การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 328-354 ต่อวันแล้วแต่จังหวัด เป็นการเพิ่มขึ้นที่ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของแรงงานก็เป็นผลดีแน่นอน แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่เป็นผลดี 

ซึ่งถ้าการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำเริ่มชัดเจนมากขึ้นอาจจะได้เห็นการปิดกิจการของโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากแน่นอน เพราะโรงงานที่รับผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานคนจำนวนมากอาจจะเลือกที่จะไปตั้งโรงงานที่ประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า หรือโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าจากต่างประเทศโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้วรับออเดอร์คำสั่งการผลิตจากประเทศต่างๆ ก็อาจจะมีคำสั่งการผลิตสินค้าลดลงหรือหายไปเลย 

เพราะเมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม เจ้าของโรงงานก็จำเป็นต้องมีการปรับค่ารับจ้างการผลิตสอนค้าต่างๆ มากขึ้นจนอาจจะไม่มีใครจ้างผลิตสินค้าอีกต่อไป โดยเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อหลายปีก่อน จริงอยู่ที่เงื่อนไขในการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ อยู่ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องขึ้นไปถึง 5% ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ อาจจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่คงไม่ใช่ทุกธุรกิจ และคงไม่ใช่ทุกรายที่ขยายตัว หรือเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมก่อสร้าง-อสังหาฯ อ่วมต้นทุน ส่อแวว “ราคาบ้าน” พุ่ง 

ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นมีผลกระทบแน่นอน เพราะราคาวัสดุก่อสร้างทุกอย่างต้องปรับเพิ่มทั้งหมด เพราะมีการใช้แรงงานในการผลิตแน่นอนอยู่แล้ว รวมไปถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ก็เช่นกันที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นแบบทันทีเป็น 600 บาทต่อวัน เท่ากับว่าเป็นการปรับเพิ่มที่สูงมาก 

เพราะก่อนหน้านี้ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มประมาณ 4 - 6% ต่อปี ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มแบบนี้ ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นทันที และสุดท้ายแล้วค่าบ้าน คอนโดมิเนียมจะต้องแพงขึ้นแน่นอน ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2566 ก็ปรับเพิ่มขึ้นไปประมาณ 5-10% ไปแล้ว ทั้งค่าแรงในระดับต่างๆ ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 


ก่อนหน้านี้ก็ปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันไปหลายรอบแล้ว นอกจากนี้ค่าเช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมก็ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยแล้วแต่จำนวนแรงงานที่ใช้ในโครงการ  

หวั่น ค่าแรงใหม่ จูงใจ ต่างด้าวทะลักไทย 

แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอื่นๆ ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มนี้รวมไปถึงค่าแรงที่จ่ายให้กับแรงงานต่างชาติด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนหลายล้านคนในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะคนไทยเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย 

แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ที่อาจจะมีแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่มากขึ้น และสิ่งที่ต้องติดตามต่อในระยะยาว คือ ผลกระทบจากการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะส่งผลอะไรในระยะยาวหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อปรับเพิ่มไปแล้วจะปรับลดลงมาอีกไม่ได้

อีกทั้งถ้าในอนาคตหลังจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึง 600 บาทต่อวันแล้ว เศรษฐกิจชะลอตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่จะสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ลดลงมาจาก 600 บาทต่อวันได้หรือไม่? จะมีการประท้วง หรือคัดค้านแบบรุนแรงจากผู้ที่เคยได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันหรือไม่? 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากทั้งของรัฐบาล และเอกชน ซึ่งถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง หรือมีปัญหาได้ เจ้าของกิจการจะสามารถแบกรับต้นทุนจากค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นแบบนี้ได้หรือไม่? 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ