นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผย ว่า จากการเปรียบเทียบเงินเฟ้อทั่วโลกช่วง 6 เดือนแรกปี 66 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า เงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้น 2.49% อยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 9 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และ ต่ำสุดในอาเซียน 7 ประเทศ โดยเขตเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงกว่าไทย อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา บราซิล เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว ส่วนเงินเฟ้อต่ำกว่าไทย เช่น บาห์เรน จีน มาเก๊า ปานามา โอมาน ฟิจิ ฮ่องกง และไต้หวัน
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า เงินเฟ้อโลกปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.8% ลดลงอย่างชัดเจนจากปี 65 ที่อยู่ที่ 8.7 จากราคาพลังงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 65 ส่วน เงินเฟ้อไทยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เพราะฐานการคำนวณที่สูงในช่วงปลายปี 65 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเมื่อเทียบกับปี 65 ผลจากการดำเนินมาตรการต่างๆของ ภาครัฐ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายเขตเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อุปสงค์โดยรวมของต่างประเทศลดลง และส่งผลมายังรายได้และกำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศไทย
“อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาพลังงาน สถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงมาตรการของรัฐบาลชุดใหม่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนวางแผนการเงินอย่างรัดกุม รวมถึงติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับตัวได้ทันสถานการณ์”.