เปิดบทบาท 3 หน่วยงานท่องเที่ยว พัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดบทบาท 3 หน่วยงานท่องเที่ยว พัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

Date Time: 21 ส.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ได้นำทรัพยากรธรรมชาติออกมาให้คนทั่วโลกได้ร่วมใช้ แล้วประเทศของเราจะสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ไว้คู่ประเทศไทยไปตลอดได้อย่างไร

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ได้นำทรัพยากรธรรมชาติออกมาให้คนทั่วโลกได้ร่วมใช้ แล้วประเทศของเราจะสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ไว้คู่ประเทศไทยไปตลอดได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดเป็นปัญหาโลกร้อน รวมถึงความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ ที่นับวันทวีคูณความรุนแรง ที่หลายๆประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้รวบรวมบทบาทของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ

โดยแต่ละหน่วยงานได้ร่วมเฝ้ารักษาทรัพยากรของประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลและพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน ดังต่อไปนี้

อพท.ใช้เกณฑ์ GSTC นำการพัฒนา

เริ่มต้นจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC เป็นเครื่องมือพัฒนาให้กับ แหล่งท่องเที่ยว คน ชุมชนผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดความเข้าใจถึงหลักการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในมิติด้านการท่องเที่ยว ที่ครอบคลุมทั้ง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต

หลักการสำคัญของ GSTC ครอบคลุมมิติการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1.การมีระบบการจัดการความยั่งยืนที่มีประสิทธิผล 2.การส่งเสริมประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจและสังคม 3.การส่งเสริมผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางวัฒนธรรม 4.การส่งเสริมผลประโยชน์และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และ อพท.ยังนำหลักเกณฑ์ GSTC มาขยายผลพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งต่อให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ได้แก่ มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Management Standard (STMS) สำหรับพัฒนาและยกระดับให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แก่ชุมชน

ตัวอย่างการดำเนินงาน อพท.ได้ผลักดัน “เกาะหมาก” จังหวัดตราด เป็น ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว ตามหลักการ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน แห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากการประกาศเป็น Green Destinations Top 100 Stories จากหน่วยงาน Green Destination Standard ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเกาะหมาก สามารถนำเสนอได้ว่าเป็น “โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อพท. ยังใช้หลักการพัฒนาตามเกณฑ์ GSTC เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ท้องถิ่น และชุมชน อีกหลายแห่ง จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations Top 100 Stories) ได้แก่ อ.เชียงคาน จ.เลย ต.ในเวียง จ.น่าน อ.เมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย

และมีจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ได้แก่ จ.สุโขทัย เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2562 และ จ.เพชรบุรี เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ในปี 2564 และในปี 2566 มีเมืองเข้าชิง ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี ด้านดนตรี และ จ.เชียงราย ด้านการออกแบบ ซึ่งจะประกาศผลในเดือน ต.ค.2566

ในมิติของการพัฒนาเพื่อการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว อพท.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย วางแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ “ปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล” ด้วยการสร้างชุมชนต้นแบบอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง รวม 38 แห่ง สร้างนักพัฒนาต้นแบบ Carbon Neutral สร้างเครื่องมือในการพัฒนา Carbon Neutral CBT พร้อมกับสร้างเครือข่ายต่อยอดเพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้นโดยการลดหรือชดเชยคาร์บอนลดลง นำไปสู่การท่องเที่ยวที่ปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เท่ากับศูนย์อย่างยั่งยืนต่อไป.

ททท.มุ่งสู่ Net Zero Tourism

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีเป้าหมายในการสร้าง DNA ของคน ททท.คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อต่อยอดการดำเนินงานการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism หรือการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน

ททท.ได้มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Goals: STGs ที่พัฒนาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อนำไปสู่การดำเนินการพัฒนาตามบริบททางการท่องเที่ยว และจัดทำ คู่มือเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวยั่งยืน “STGs Easy” ให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) และจะมีการมอบประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” มีอายุคราวละ 2 ปี ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating และผ่านเกณฑ์การประเมิน

นอกจากนี้ ททท.ยังได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งยกระดับผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน จัดโครงการ “Establish Thailand to be Sustainable Tourism Destination” ให้ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ศักยภาพนำร่อง 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ และมีแผนจะต่อยอดขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ภายในเดือน ก.ย.นี้

ขณะเดียวกัน ททท.ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม www.cf-hotels.com เพื่อสร้างฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมออนไลน์ให้กับโรงแรม ซึ่งคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ได้จากการคำนวณจะบ่งชี้กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอทางเลือกกิจกรรมต่างๆ ในการลดผลกระทบก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของโรงแรม สามารถบ่งชี้ศักยภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีโรงแรมเข้าร่วม 97 โรงแรมใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

การประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ Thailand Tourism Awards ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ได้ขยายประเภทของการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) โดยจะมอบให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พักนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายการนำเที่ยว หรือสถานประกอบการ ที่มีนโยบายจัดการคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 41 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ส.ค.2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ททท.ตั้งใจออกแบบการจัดงานให้มีการสร้างขยะน้อยที่สุด จึงได้ยกแนวคิด “Zero Landfills” ลดการสร้างขยะนำสู่บ่อฝังกลบ นำสู่การปฏิบัติ และมีการกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ให้การเดินทางท่องเที่ยวทิ้งภาระให้กับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองในการตกแต่งภายในงาน ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน มีจำนวนขยะที่ถูกคัดแยก 12,271 กิโลกรัม ถูกส่งต่อให้พันธมิตรเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี

สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ จำนวน 27,420 กิโลคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 3,046 ต้น/ปี ถือเป็นมิติใหม่ในการจัดงานที่ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการเดินหน้าของ ททท.ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปสู่ระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem)

ก้าวต่อไป ททท.ได้เตรียมการเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมและโครงการต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวด้วยแนวทาง “ปรับ ลด ชดเชย” อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสู่ Net Zero Tourism และเป้าหมาย Sustainable Tourism Goals.

“ทีเส็บ” ชูลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ หน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนด้านการบริการหลักสำหรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ที่เข้าร่วมการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจากทั่วโลก ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและการจัดแสดงนิทรรศการ ที่เรียกว่า ธุรกิจไมซ์ (MICE)

การดำเนินงานของทีเส็บมีเป้าหมายจะเพิ่มบทบาทในการผลักดันการจัดกิจกรรมไมซ์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบให้มากยิ่งขึ้น

แม้ว่าความยั่งยืน (Sustainability) ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์หลักของอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก แต่จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability อย่างจริงจังของทีเส็บมานานกว่า 10 ปี

ทีเส็บไม่ได้มองว่า ความยั่งยืนเป็นเทรนด์ แต่เล็งเห็นว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่จะสามารถขับเคลื่อนและนำพาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยืนระยะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายใหม่ๆ หรือดิสรัปชันต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้น ทีเส็บจึงให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด

ขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา ทีเส็บได้เพิ่มบทบาทในการผลักดันการจัดงานไมซ์ให้ตอบโจทย์ ต่อสภาวะโลกร้อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ได้มีการผลักดันการใช้คู่มือ และเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์เบื้องต้นที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน

ขณะเดียวกันในปี 2566 ได้ตั้งเป้าการเลี่ยงและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เกิดจากการจัดงานให้ได้ 200,000 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงขึ้นสองเท่าจากปี 2565 และสามารถดำเนินการได้สำเร็จในเดือน มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยสามารถดำเนินการเลี่ยงและลดได้ถึง 293,115.69 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่า หรือเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นคือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 17,765 ต้น

ดังนั้น ในปีหน้าทีเส็บยังมุ่งเป้าที่จะขับเคลื่อนเรื่องการเลี่ยงและลดคาร์บอน ฟุตพรินต์ไปพร้อมๆ กับยกระดับการจัดงานให้เกิดงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Events และ Net Zero Carbon Events เพิ่มมากขึ้น โดยได้สร้างความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการขยายผลเรื่องการชดเชยคาร์บอน และการสนับสนุนคาร์บอนเครดิต ให้มีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเบื้องต้นด้านมาตรฐานการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย เพื่อยกระดับและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ไทยทุกประเภท ให้สามารถดำเนินกิจกรรมอย่างยั่งยืนได้มีมาตรฐานและมีความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เช่น การประชาสัมพันธ์การจัดงานผ่านระบบดิจิทัลและออนไลน์ การประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติด้านการจัดงานอย่างยั่งยืนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เตรียมความพร้อมและมีส่วนร่วม ใช้ระบบลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ งดพิมพ์เอกสาร เลือกใช้บัตรประจำตัวผู้ร่วมงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก การเลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการพลังงานหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การเลือกสถานที่จัดงานที่ตั้งอยู่ใกล้ระยะเดินเท้าไปถึงระบบขนส่งสาธารณะ

มีข้อแนะนำการตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น เลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก งดใช้ดอกไม้และวัสดุจากโฟม ตลอดจนข้อแนะนำในเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติก งดใช้น้ำตาล ครีม ซอส นม แบบซอง งดใช้หลอดหรือให้ใช้หลอดดูดน้ำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ จัดเตรียมอาหารในปริมาณเหมาะสม ไม่มากเกินไป เลือกใช้อาหารออร์แกนิกในท้องถิ่น และบริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร

รวมทั้งให้เลือกใช้ของที่ระลึกที่ผลิตโดยชุมชน หรือผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ให้แยกประเภทขยะที่เกิดจากการจัดงาน ที่สำคัญให้ใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอน ฟุตพรินต์ เบื้องต้นที่เลี่ยงได้จากการจัดงาน

ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมบางส่วน ที่ทั้ง 3 หน่วยงานทางด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลได้ดำเนินการ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเข้าไปเสริมเป้าหมายของประเทศไทยที่จะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608) สิ่งสำคัญที่สุดในการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นได้ คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ