เกษตรกรกระอัก “หมูเถื่อน” ระบาด จี้รัฐกวาดล้างหวั่นกดราคาในประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เกษตรกรกระอัก “หมูเถื่อน” ระบาด จี้รัฐกวาดล้างหวั่นกดราคาในประเทศ

Date Time: 19 ส.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายจากต่างประเทศ หรือหมูเถื่อน เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง จากปริมาณหมูเถื่อนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดทุกทิศทาง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายจากต่างประเทศ หรือหมูเถื่อน เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง จากปริมาณหมูเถื่อนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดทุกทิศทาง เกษตรกรไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูเถื่อนราคาถูกที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันประกาศราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 66-74 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร Pig Board คาดการณ์ต้นทุนการเลี้ยงสุกร ไตรมาสที่ 3/2566 ประเภทซื้อลูกสุกรเข้าขุนปรับลงเป็น 80.79 บาทต่อกิโลกรัม

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า แรงกดดันจากหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาตีตลาดหมูไทย ทำให้ราคาหมูตกต่ำอย่างหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณหมูในท้องตลาดขณะนี้จะต้องมีไม่มาก จากผลของโรค ASF ในสุกร ที่ทางการประกาศพบเมื่อต้นปี 2565 ทำให้มีเกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่งเลิกเลี้ยง เพราะหวั่นเกรงการขาดทุนจากภาวะโรค ผนวกกับวงการหมูก็ประสบภาวะราคาตกต่ำก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ปริมาณหมูเป็นในประเทศลดลงอย่างมาก แต่ในตลาดกลับมีปริมาณเนื้อหมูมากผิดปกติ สะท้อนว่า มีหมูนอกผิดกฎหมายมาปะปนขายแข่งกับหมูไทยแน่นอน

“ตามวงรอบการเลี้ยง เหมือนอย่างที่จีนผลผลิตหมูหายไปนานประมาณ 2 ปี นั่นหมายความว่า ราคาหมูในประเทศจะต้องสูงขึ้น เพราะปริมาณมีน้อย แต่กลับไม่เป็นตามนั้น เพราะวันนี้กลับมีปริมาณหมูล้นตลาด ที่สำคัญคือจำนวนเนื้อหมูจำนวนมากที่มีนั้น ไม่ได้มาจากการเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศที่ผ่านมาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างระดมแก้ไข แต่ปัญหากลับไม่หมดสิ้น ยังคงมีหมูเถื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรขอฝากความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาที่เป็นทุกข์หนักของเกษตรกร กวาดล้างหมูเถื่อนให้สิ้นซาก ก่อนที่เกษตรกรจะล้มหาย ตายจากไปมากกว่านี้”

ก่อนหน้านี้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้มีผลประโยชน์นับแสนล้าน ประเมินจากแต่ละตู้ที่ขนเข้ามามีต้นทุนและกำไรรวมกันประมาณ 3,750,000 บาทต่อตู้และการข่าวบอกว่ามีตู้เหล่านี้มากถึง 2,000 ตู้ ในช่วงปี 2565-2566 เชื่อว่าตอนนี้ตู้เหล่านั้นยังคงอยู่ที่ท่าเรือซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศพร้อมด้วยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกสมาคมพร้อมผลักดันทุกวิถีทาง เพื่อให้ภารกิจทวงคืนตลาดหมูให้กับเกษตรกรไทย ตลอดจนทวงคืนสุขภาพ และความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยกลับมาให้ได้เร็วที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ