ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ รวมถึงแบงก์ชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน บางขุนพรหม ชวนคิดในวันนี้จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้กับท่านผู้อ่านค่ะ
ภายหลังผลกระทบจากโควิดบรรเทาลง เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวชัดเจน และรายได้ของลูกหนี้กลับมาดีขึ้น แนวทางหรือมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของแบงก์ชาติได้ปรับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ หนี้ใหม่ให้มีคุณภาพไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ โดยมี 2 มาตรการที่จะเร่งออกใช้ก่อน คือ การดูแลหนี้เรื้อรัง และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า หนี้เรื้อรังคืออะไร? หนี้เรื้อรังคือ หนี้ที่ยังมีสถานะปกติยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ลูกหนี้หาทางปิดจบหนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าจ่ายเงินต้น จ่ายหนี้แบบขั้นต่ำมาตลอด รวมทั้งกู้หนี้ใหม่เพื่อไปปิดหนี้เก่า โดย เป้าหมายของแบงก์ชาติที่จะแก้ปัญหาหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ลูกหนี้เรื้อรังปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและมีเงินเหลือใช้พอดำรงชีพ ผ่านการออกมาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง ซึ่งจะแบ่งลูกหนี้เรื้อรังเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่มีสัญญาณจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 3 ปี โดยธนาคารหรือเจ้าหนี้ จะส่งข้อความแจ้งเตือนลูกหนี้ว่า มีสัญญาณหนี้เรื้อรัง แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเดือนมากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น กลุ่มสอง ลูกหนี้เรื้อรังที่มีรายได้น้อย เป็นลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 5 ปี และมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือนสำหรับลูกหนี้แบงก์ หรือมีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือนสำหรับลูกหนี้นอนแบงก์ โดยรูปแบบการแก้หนี้จะใช้วิธีแปลงสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน เป็นสินเชื่อแบ่งชำระรายงวด ให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญหากจะเข้าโครงการนี้คือ ลูกหนี้จะไม่สามารถกู้เพิ่มได้จนกว่าจะปิดหนี้จบ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าเข้าปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
สำหรับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่มกราคมปีหน้า เจ้าหนี้ต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ทั้ง 1) ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ เจ้าหนี้จะต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ ที่ให้ข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน เปรียบเทียบได้ และไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว 2) ระหว่างเป็นหนี้ ให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมและส่งเสริมให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา และให้ข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน 3) หากลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และ 4) เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้ว ก่อนจะฟ้องดำเนินคดีและโอนขายหนี้ เจ้าหนี้จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อจะโอนขายหนี้ จะต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังพิจารณาแนวทางดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ที่จะช่วยให้คนที่มีความเสี่ยงสูงเกินเพดานสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ แต่จะถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้นอกระบบขณะที่ คนที่มีความเสี่ยงต่ำควรจ่ายดอกเบี้ยถูกลง รวมถึงการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ให้อยู่ในมาตรฐาน เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้พอต่อการดำรงชีพ โดยมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งหมดนี้จะช่วยปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนค่ะ.