แม้ล่าสุด กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะออกมาดับกระแสร้อน ความสับสนทางสังคม ยืนยัน ผู้สูงอายุกลุ่มเดิม ยังจะได้รับ “เบี้ยผู้สูงอายุ” ตามเดิม 100% ไม่มีใครตกหล่นแม้แต่คนเดียว
หลังจากที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา คลิกอ่าน : ราชกิจจานุเบกษาเบี้ยคนชรา
โดยหลักใหญ่ใจความของประกาศฉบับนี้ ระบุ จะมีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สงวนสิทธิ์ให้เฉพาะกับผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามนิยามของ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ที่รอเคาะออกมาอีกครั้ง
ระเบียบฉบับนี้ มีความต่างออกไปจากเดิม ที่ “เบี้ยคนชรา” เป็นสิทธิ์ถ้วนหน้า ได้รับทุกคนทุกเดือน สำหรับคนไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จึงกลายเป็นคำถาม ถึงเหตุผลความจำเป็นของการแก้ไขหลักเกณฑ์เดิม และเมื่อเกณฑ์ใหม่บังคับใช้นั้น จะมีผู้สูงอายุคนไทย ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ตกชั้นได้รับเบี้ยดังกล่าว มากน้อยแค่ไหน? และเกณฑ์รายได้ที่ถูกนิยามว่า “เพียงพอต่อการยังชีพ” ตัวเลขคือเท่าไร
ข้อพิพาทโต้แย้งนี้ เกิดขึ้น ท่ามกลางขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป เกือบๆ 20% ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งมีข้อมูล พบว่า ประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่ มีเงินออมไม่พอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพ ส่วนการจ่ายเบี้ยยังชีพต่อเดือนนั้น ก็แทบไม่เพียงพอ อยู่-กิน จนทำให้ทั้งพรรคการเมืองต่างขั้ว และภาคประชาสังคม ออกมาต่อต้านกฎเกณฑ์ใหม่ที่ว่านี้อย่างดุเดือด
อย่างไรก็ดี จากประเด็นนี้ หากเรามองข้ามชอต ข้อโต้เถียงทางการเมือง ที่ต่างมีเหตุและผลรับฟังได้ ทั้งจากฝั่งผู้ดำเนินการ ก็คือรัฐบาลรักษาการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชี้ว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ กับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้น
ขณะฝ่ายไม่เห็นด้วย ที่คัดค้านการเปลี่ยนเกณฑ์ดูแลผู้สูงอายุของไทย มาก็ด้วยหลักการเหตุผลสำคัญ "คนเท่ากัน ความจนไม่จำเป็นต้องพิสูจน์"
#ThairathMoney ชวนเจาะไส้ในของปัญหานี้ จะพบว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ท้าทายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตไม่น้อย พร้อมๆ กับ ไทยต้องเร่งหาทางรองรับแล้ว เมื่อการเผชิญหน้า “สังคมผู้สูงอายุ” กำลังกลายเป็นโจทย์หิน ในแง่ภาระค่าใช้จ่ายของประเทศที่เพิ่มขึ้น ในอัตราเร่งที่เร็วและแรง
ย้อนสถิติ จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย ข้อมูลเมื่อปี 2563 พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุสูง 18.24% ของประชากรทั้งประเทศ เฉลี่ยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มนี้ราว 3.6% ต่อปี หรือมากถึง 400,000 คนต่อปี
แต่ข้อมูลคาดการณ์ที่ชวนผวา คือ ประมาณการประชากรประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562) ที่ระบุว่า ภายในปีนี้ ไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 20.66% ของประชากรทั้งประเทศ
และพีกสุด ก็ปี 2578 ที่ไทยจะมีผู้สูงอายุล้นเมือง สัดส่วน 28.55 % ของประชากรทั้งประเทศ ภายใต้ปัญหาจำนวนวัยเด็กแรกเกิดหดตัวรุนแรง ฉะนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และงบประมาณของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย พร้อมๆ กับ คนไทยแบกหนี้ครัวเรือนจนหลังแอ่น นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องอาศัยการมองไกลของรัฐบาลใหม่ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
เพราะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไร้บุตรหลาน มีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ทั้งในส่วนของกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ภาครัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีเงินได้ลดลง ขณะที่กำลังแรงงานและภาครัฐจำเป็นต้องนำรายได้มาดูแลผู้สูงอายุในประเทศมากขึ้น
อีกทั้งการเข้าสู่วัยสูงอายุมาพร้อมกับการเสื่อมถอยของร่างกายและการเจ็บป่วยที่มากขึ้น คนแก่ดูแลตนเองได้น้อยลง ตามข้อมูล พบว่า ผู้สูงอายุ 1.6 ล้านคน ไม่สามารถเดินทางได้เอง ขณะอีก 4.5 แสนคน ไม่สามารถดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ นี่เป็นเหตุผลที่ผู้สูงอายุ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลที่มากกว่าคนวัยอื่นๆ
เจาะงบประมาณสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย หรือ เบี้ยคนชราที่จ่ายเข้าบัญชีรายเดือน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม ณ ขณะนี้ มีการเพิ่มงบต่อปีสูงขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างมีนัย ภายในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเบี้ยผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณประจำต้องจ่ายทุกปี และเพิ่มทุกปี และอย่างที่ระบุ ยังหาปลายทางไม่เจอ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า ปัจจุบันดูแลผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านคน เงินงบประมาณ 89,000 ล้านบาท ซึ่งไต่ระดับเพิ่มมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 50,000 ล้านบาท ในไม่กี่ปีก่อนหน้า ก็ด้วยจำนวนผู้สูงวัยที่เข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น
ขณะล่าสุด พม.เพิ่งแจ้งไปในที่ประชุมครม.ว่า ถ้าการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบเดิมอยู่แบบจ่ายทุกราย ในปี 2568 ภาระงบประมาณเฉพาะเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงแสนล้านบาท และยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งท้ายที่สุด เปิดช่องให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม หรือปรับตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจต้องพิจารณาฐานะการคลังของประเทศร่วมด้วย
ย้อนกลับมาที่ ฐานภาษี ที่เป็นรายรับของประเทศ ถังงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายส่วนนี้ มีแต่ลดลง ทางออก คือ การกู้เพิ่มมาสนับสนุน ซึ่งก็นับเป็นภาระทางการเงิน และการคลังของประเทศ รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
ครั้งหนึ่ง รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการ เคยระบุว่า ความฝันที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในทุกๆ มิติ
รัฐควรให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการมากขึ้น และจำเป็นต้องมีกลไกอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ระบบการออมเพื่อชราภาพ การจ่ายสมทบของประชาชนและรัฐบาล และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนรัฐสวัสดิการได้อย่างเป็นระบบ ไทยต้องก้าวข้ามข้อจำกัดทางภาษีให้พ้น เช่น การผลักดันภาษีใหม่ๆ เพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับการจัดรัฐสวัสดิการ มุ่งการลดรายจ่ายในชีวิตของประชาชนด้วยสวัสดิการ
โดยเห็นว่ารัฐควรจ่ายบำนาญชราภาพถ้วนหน้าอย่างต่ำ 3,000 บาทต่อเดือน และจ่ายอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งนี่คงเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขดูแล วางรากฐานอย่างยั่งยืนร่วมด้วย
ทั้งนี้ ปัจุบัน การแจกเบี้ยคนชรา กรมบัญชีกลางจะมีหน้าที่ในการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนที่ได้รับสิทธิเบี้ยคนชราตามเงื่อนไขที่กระทรวง พม.ส่งรายชื่อมาเท่านั้น โดยปัจจุบันแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับสิทธิเบี้ยคนชราโดยตรง และจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนด จ่ายทุกวันที่ 10 ของเดือน
ส่วนรูปแบบการจ่าย จะเป็นแบบจ่ายถ้วนหน้า หรือแบบขั้นบันไดหรือจ่ายทุกคนที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ 11.20 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณราว 71,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ที่ 90,000 ล้านบาท