ออกประกาศแต่ไม่มีกติกาชัด คลังออกโรงซัดรื้อเกณฑ์เบี้ยคนชราไม่ถูกต้อง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ออกประกาศแต่ไม่มีกติกาชัด คลังออกโรงซัดรื้อเกณฑ์เบี้ยคนชราไม่ถูกต้อง

Date Time: 16 ส.ค. 2566 07:06 น.

Summary

  • “สันติ” ไม่เห็นด้วยรื้อเกณฑ์แจกเบี้ยคนชรา สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม อนุมัติแก้ไขโดยไม่ออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนถือว่าไม่ถูกต้อง ยันไม่ต้องห่วงคลัง มีเงินฐานะแข็งแกร่ง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“สันติ” ไม่เห็นด้วยรื้อเกณฑ์แจกเบี้ยคนชรา สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม อนุมัติแก้ไขโดยไม่ออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนถือว่าไม่ถูกต้อง ยันไม่ต้องห่วงคลัง มีเงินฐานะแข็งแกร่ง ด้าน ปลัด พม.ระบุ อย่าเพิ่งตกใจ ขอให้รอบอร์ดผู้สูงอายุแห่งชาติที่รัฐบาลใหม่ตั้ง มีมติแก้ไขก่อน ยันคนสูงอายุมีรายได้ไม่พอยังได้รับเงิน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 ส.ค.) ถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติแจกเบี้ยผู้สูงอายุว่า เป็นเรื่องกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ต้องไปดำเนินการ โดยเฉพาะประเด็นที่จะต้องไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่ได้รับสิทธิอยู่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุม ครม.ในครั้งนี้ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในกรณีดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงไม่มีรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็น

“อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการปรับปรุงเงื่อนไขสิทธิการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่างคนชราเดิมที่ได้รับสิทธิ แต่คนชราคนใหม่ ไม่ได้รับสิทธิ อีกทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์การกำหนดที่ชัดเจนว่าคนรวยต้องรวยระดับเท่าใดที่จะไม่ได้รับสิทธิ และคนจนเท่าใดจึงจะได้รับสิทธิ ซึ่งตนมองว่าการแจกเบี้ยคนชราแตกต่างจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่กำหนดว่าครอบครัวต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาท และทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น”

นายสันติกล่าวต่อว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการออกกฎกติกาใดๆที่ชัดเจน แต่กลับประกาศปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้สูงอายุแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามรายละเอียดจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวง พม. ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนกระทรวงการคลังมีหน้าที่ต้องจัดหาเงินให้ส่วนราชการตามความที่กำหนด และขอยืนยันอีกครั้งว่ากระทรวงการคลังมีเงิน ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ต้องใช้เงินให้เป็นเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การแจกเบี้ยคนชรา กรมบัญชีกลางจะมีหน้าที่ในการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนที่ได้รับสิทธิเบี้ยคนชราตามเงื่อนไขที่กระทรวง พม.ส่งรายชื่อมาเท่านั้น โดยปัจจุบันแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับสิทธิเบี้ยคนชราโดยตรง และจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนด จ่ายทุกวันที่ 10 ของเดือน ส่วนรูปแบบการจ่าย จะเป็นแบบจ่ายถ้วนหน้า หรือแบบขั้นบันไดหรือจ่ายทุกคนที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป โดยอายุ 60-69 ปี จ่าย 600 บาท อายุ 70-79 ปี จ่าย 700 บาท อายุ 80-89 ปี จ่าย 800 บาท และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป จ่าย 1,000 บาท ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ 11.20 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณราว 71,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ที่ 90,000 ล้านบาท

ด้านนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ แก่การยังชีพว่า ยืนยันผู้สูงอายุรายเดิมที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวมถึงรายใหม่ยังได้รับการจัดสรรเหมือนเดิม จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) จะมีมติออกมาอย่างไร ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลใหม่แต่งตั้ง กผส.ชุดใหม่ ในขณะนี้ไม่อยากให้ผู้สูงอายุทุกคนตื่นตระหนก ทุกอย่างยังเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเดิม แม้จะมีระเบียบใหม่ออกมา แต่มีบทเฉพาะกาล บัญญัติไว้ว่าจะต้องเป็นไปตามมติ กผส.

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ของ กผส. จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมกันพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติรอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพก็อาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียงกลุ่มเดียวก็ได้ หรือเบี้ยที่ได้รับจัดสรรก็อาจจะไม่ใช่ 600, 700, 800 หรือ 1,000 บาท ก็ได้ กผส.ก็อาจจะพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับการยังชีพ ขณะเดียวกันก็คงต้องพิจารณาถึงภาระการคลังของประเทศด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลก็ต้องดูแลคนทุกกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อถามถึงการปรับแก้ระเบียบของกระทรวง มหาดไทยเป็นการข้ามขั้นตอน กผส.หรือไม่ นายอนุกูลกล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยให้ กผส.กลับไปทบทวนการกำหนดหลัก เกณฑ์ถึงคุณสมบัติผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุรัฐจะต้องดูแลช่วยเหลือบุคคลยากไร้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ขณะที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2553) กำหนดให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จึงเป็นช่องว่างที่กฤษฎีกาตั้งข้อสังเกต กระทรวงมหาดไทย จึงอาจนำข้อสังเกตดังกล่าวไปดำเนินการปรับแก้ไว้ก่อนรอจนกว่าจะมีมติ กผส.ออกมา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ