เบี้ยผู้สูงอายุ นโยบาย 5 พรรคการเมืองใหญ่ เคยสัญญาอะไรบ้าง หรือใช้เพื่อการโฆษณา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เบี้ยผู้สูงอายุ นโยบาย 5 พรรคการเมืองใหญ่ เคยสัญญาอะไรบ้าง หรือใช้เพื่อการโฆษณา

Date Time: 15 ส.ค. 2566 15:57 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เบี้ยผู้สูงอายุ กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกระทรวงมหาดไทย ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ Thairath Money ชวนทบทวนนโยบายดูแลผู้สูงอายุของ 5 พรรคการเมือง พรรคไหนให้เบี้ยคนชราเท่าไรบ้าง

Latest


เบี้ยผู้สูงอายุ กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกระทรวงมหาดไทย ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ เพื่อเป็นแนวทางการลดรายจ่าย สร้างฐานะการคลังให้มีความยั่งยืน

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้น ประกาศเงื่อนไขไว้ 4 ข้อดังนี้ 

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ทั้งนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การปรับเกณฑ์คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยคนชรา ไม่เพียงแต่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนเท่านั้น แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันแล้วว่า กลุ่มผู้สูงอายุเดิมที่ได้รับเบี้ยคนชรา ยังจะคงได้สิทธิตามเดิม แต่ประเด็นนี้ ก็กลายเป็นคำถามว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรเป็นสิทธิ์ถ้วนหน้าหรือไม่ ?

ขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองแต่ละพรรค ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม


Thairath Money ชวนทบทวนนโยบายดูแลผู้สูงอายุของ 5 พรรคการเมือง พรรคไหนให้เบี้ยคนชราเท่าไรบ้าง  

นโยบายผู้สูงอายุ 5 พรรคการเมือง

1. นโยบายผู้สูงอายุพรรคเพื่อไทย

ไม่มีการเพิ่มเบี้ยคนชรา แต่เป็นการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค 

  • บัตรประชาชนใบเดียวสามารถรักษาได้ทั่วไทย นัดคิวออนไลน์ ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเลือดคลินิกใกล้บ้าน
  • ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกล หรือ Telemedicine รักษาและจ่ายยาออนไลน์ ลดภาระของผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์
  • ส่งเสริมให้มีสถานชีวาภิบาล สำหรับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สปสช.

2. นโยบายผู้สูงอายุพรรคพลังประชารัฐ

ปรับขึ้นเบี้ยคนชราแบบขั้นบันได เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จากเดิมที่รับเบี้ยชรา ประมาณ 700-800 บาทต่อเดือน 

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับเบี้ยคนชรา เดือนละ 3,000 บาท
  • ผู้สูงอายุ 70 ปี รับเบี้ยคนชรา เดือนละ 4,000 บาท
  • ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป รับเบี้ยคนชรา เดือนละ 5,000 บาท
  • ขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 63 ปี


3. นโยบายผู้สูงอายุพรรคภูมิใจไทย

ไม่เพิ่มเบี้ยคนชรา แต่เสนอนโยบายกองทุนประกันชีวิต สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตทันที โดยไม่ต้องสมัคร และไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต

  • ในวันที่อยู่ ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระของลูกหลาน มีสิทธิกู้เงินดูแลตัวเอง และ ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่รัฐบาลจัดทำให้ ค้ำประกันตัวเอง  
  • ในวันที่จากไป ผู้สูงอายุไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลาน ทายาท และครอบครัว รายละ 100,000 บาท 

4. นโยบายผู้สูงอายุพรรคก้าวไกล

  • เพิ่มเบี้ยคนชรา เป็นเดือนละ 3,000 บาท เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น จากสวัสดิการเก่าซึ่งอยู่ที่ 600-1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
  • พัฒนากองทุนดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง งบประมาณเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาทต่อคน ผ่านการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ปลดล็อกระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine

5. นโยบายผู้สูงอายุพรรครวมไทยสร้างชาติ

  • ปรับเบี้ยสูงอายุที่เคยเป็นแบบขั้นบันได ให้เท่ากันทุกช่วงวัย เดือนละ 1,000 บาท
  • สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และลดภาษีให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัยทำงาน
  • จัดทำแอปพลิเคชันและระบบสมาร์ทโฮมสำหรับการดูแลผู้สูงวัยในที่อยู่อาศัย และคลินิกสำหรับคนสูงวัยในโรงพยาบาลระดับอำเภอ
  • เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีรายได้หลังเกษียณอายุไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท

ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องติดตาม คือ หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะถูกพิจารณาและคลอดออกมา จากคณะกรรมการ ที่มีชื่อว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ว่าเงื่อนไขสำคัญ ที่ระบุเอาไว้ว่า ... ผู้สูงอายุนั้นๆ จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามนิยามแล้ว ตัวเลขอยู่ที่เท่าไรกันแน่ และจะมีผู้เสียสิทธิไปเยอะแค่ไหน จากเดิมที่ได้สิทธิถ้วนหน้า ... 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ