จากกรณี “พรรคเพื่อไทย” ประกาศว่า พร้อมลุยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบาย Digital Wallet หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัล อย่างเต็มรูปแบบ ให้กับคนไทย หลังขึ้นเป็นรัฐบาลสำเร็จแล้ว เพื่อใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ และนำไทยเปิดประตูสู่สังคมดิจิทัล เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดจะเริ่มได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. ปี 2567 เป็นต้นไป
เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไม่ใช่คริปโต แต่เป็นเหรียญหรือคูปอง
โดยวิธีการเบื้องต้น จะแจกเงินเข้าสู่กระเป๋าเงินประชาชนตามเลขที่ลงทะเบียนไว้ คาดมีคนไทยอย่างต่ำ 50 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ นับรวมเป็นเงินราวๆ 5 แสนล้านบาท ที่ใช้ในการดำเนิน นโยบาย “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย”
ขณะรายละเอียดของคนที่จะได้รับเงิน 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยและรูปแบบการใช้เงินดิจิทัลนั้น “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” โฆษกคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรค ระบุว่า...
ทั้งหมดนี้ พรรคเพื่อไทย ยังตอบคำถามสังคมที่ว่า : สร้างประโยชน์ได้จริงไหม?
ระยะสั้น : เพิ่มเงินในระบบ 6 เท่าตัว (ราว 3 ล้านล้านบาท)
ระยะกลาง : วางมาตรการและเงื่อนไขให้รัฐเก็บภาษีคืนได้
ระยะยาว : วางโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
#ThairathMoney ย้อนคำพูด “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยลั่นว่า นโยบายของเพื่อไทยต่างๆ จะพาคนไทยพ้นหลุมดำ ความยากจน ขณะ “นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยลุกขึ้นทำมาหากินได้อีกครั้ง และหากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จจะเริ่มดำเนินการให้ทันภายในวันที่ 1 ม.ค. 2567 อย่างแน่นอน
ห่วง เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพิ่มหนี้สาธารณะ แนะช่วยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย
จากประเด็นดังกล่าว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู โดยเฉพาะในแง่ลบ ว่า นโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทย จะนำมาซึ่งความเสียหายในแง่การคลัง และหนี้สาธารณะของประเทศ โดยเฉพาะ หาก GDP ไทยไม่ได้เติบโตหวือหวา ระดับ 5-6% ตามฝันของรัฐบาลใหม่ ยิ่งมีความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ
ล่าสุด นักวิชาการอิสระ ฐานะ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ก็ออกมาชี้ว่า การแจก นโยบาย Digital Wallet จำนวน 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขี้นไป ราว 50 ล้านคน จำเป็นต้องถูกทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติแต่อย่างใด ขณะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ แม้นไม่สูงไม่เต็มศักยภาพ แต่ก็น่าจะขยายตัวได้แค่อย่างต่ำ 3.5-3.6% เป็นอย่างน้อย
ประเมินการใช้เงินจำนวนมากเพื่อแจกเงินให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปี เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายสาธารณะแต่อย่างใด โดยเสนอแนะ หากจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรใช้มาตรการอื่นแทนที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงทางการคลังและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า ซึ่งการโอนเงินหรือแจกเงิน เป็น มาตรการ Income Transfer ควรมุ่งไปที่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือ ใช้บรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่แจกเงินให้เป็นการทั่วไป
หากจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ใช้มาตรการ Negative Income Tax (NIT) จะดีกว่า หากมีเป้าหมายต้องการให้เป็นการทั่วไปทุกคน สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง หรือ นักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีทั้งหลาย ลดภาษีให้ตรงๆ จะเหมาะสมกว่า เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
“ข้อควรระวังของนโยบายลักษณะโอนเงินหรือแจกเงิน ก็คือ ข้อจำกัดของโครงสร้างงบประมาณ ค่อนข้างมั่นใจว่า หากเดินหน้าทำตามนโยบายทันที ต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2567 เพิ่มทะลุ 1 ล้านล้านบาท หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้า ไม่สามารถจัดเก็บภาษีมาสนับสนุนได้มากพอและต้องก่อหนี้อาจเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้"
“นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นมาตรการที่ใช้เม็ดเงินงบประมาณสูงกว่า 5 แสนล้านบาท มาตรการนี้ประสบความสำเร็จโดยมีเงื่อนไขว่า อัตราความโน้มเอียงในการบริโภคของครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ประมาณ 0.7 และ ตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ 6 เท่า ก็จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 5,000 บาท) และ เพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 10,000 บาท) ถึงจะทำให้การตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5-6% มีความเป็นไปได้”
หนุนเศรษฐกิจ-ช่วยเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ดี ย้อนไปก่อนหน้า “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยออกมาสนับสนุนนโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทยในอีกแง่ ว่า หากว่าที่รัฐบาลใหม่ สามารถขับเคลื่อนได้จริงก็คงไม่มีปัญหา โดยประเมินข้อดี ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนได้อย่างน้อย 2 รอบ รอบแรกเป็นเงินที่ใส่เข้าไปในกระเป๋า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริโภคของประชาชน การลงทุนของภาคธุรกิจ และทำให้มีผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น
ขณะรอบที่ 2 เมื่อรายได้เพิ่มจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการบริโภคหมุนอีกรอบ โดยรวมแล้วจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามมาอีกมาก แต่ก็มีข้อติติงห่วงใยเพิ่มเติม ฝากให้พรรคเพื่อไทยไปแกะโจทย์ให้ออกเช่นกัน เช่น ร้านค้าต่างๆ มีความพร้อมหรือไม่ และ หากในรัศมี 4 กิโลเมตร ไม่มีร้านค้า และ บริการ ให้ใช้จ่าย จะทำเช่นไร
ส่วนในแง่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นเป้าหมายรองของเพื่อไทย ก็มีผู้ที่อยู่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลให้ความเห็นไว้เช่นกัน อย่าง “ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์” นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซึ่งระบุว่า เบื้องต้นมอง ปัญหาของนโยบายนี้ ยังเป็นเรื่องของงบประมาณ ส่วนในเชิงเทคนิค และ วิธีการ ประเมินไม่ใช่เรื่องยาก ทำได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนช่องทางการอุดหนุนเงินให้ประชาชน ที่จากเดิมรัฐบาลจะเติมเงินเข้าแอปฯ เป๋าตัง เปลี่ยนเป็นกระเป๋าดิจิทัลแทน
ขณะจะเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้กับประชาชนหรือไม่นั้น “ศุภกฤษฎ์” ชี้ว่า ไม่น่ามีความยุ่งยาก เพราะคนไทยมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ทั้งพร้อมเพย์ และเป๋าตัง อยู่ก่อนแล้ว...
จากข้อดี-ข้อเสีย ที่นำเสนอข้างต้น คงกลับมาที่คำถาม ว่า ถ้าวันนี้ มีคนแจกเงินดิจิทัลให้ “1 หมื่นบาท” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คุณจะเอาไปทำอะไร? และความห่วงที่ว่านโยบายนี้ อาจนำมาซึ่ง ภาวะเงินเฟ้อ กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เราพร้อมรับมือหรือไม่
พร้อมๆ กับ ยังต้องเฝ้าติดตาม ความเคลื่อนไหวของ “ว่าที่รัฐบาล” พรรคเพื่อไทย ในแง่อื่นๆ อีก หลังจากประกาศ นโยบายที่จะเร่งดำเนินการ ไม่ใช่ แค่การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การพักหนี้, ลดค่าน้ำมัน และ ลดค่าไฟฟ้า ให้กับคนไทย อีกด้วย...