นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีความหวานและภาษีความเค็มใหม่ ด้วยการนำเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาร่วมในการพิจารณา รวมถึงสารเพิ่มความหวาน ความเค็มหลายรายการ ที่ไม่ได้ระบุในพิกัดภาษีด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กรมได้จัดเก็บภาษีความหวานไปแล้ว ส่งผลให้คนไทยลดการบริโภคอาหารหวาน ลดโอกาสการเป็นเบาหวาน และโรคอื่นๆ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จัดเก็บภาษีความหวาน ดังนี้ น้ำหวานที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร (มล.) เก็บภาษี 1 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนั้นมีน้ำหวานที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อน้ำ 100 มล. อยู่ที่ 2,993 ล้านลิตรต่อปี แต่เมื่อปรับขึ้นภาษีความหวานเฟส 3 จัดเก็บภาษีน้ำหวานที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มล. อัตรา 3 บาทต่อลิตร ทำให้น้ำหวานกลุ่มนี้มีการผลิตลดลงเหลือเพียง 728 ล้านลิตรเท่านั้น
“กรณีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่นำมาผสมในเครื่องดื่มนั้น ยังไม่มีการบรรจุในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพราะต้องรอผลการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อน และต้องหารือกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งสารให้ความหวานมีหลายชนิด ทั้งที่ดีและไม่ดีต่อร่างกาย ดังนั้น ควรนำมากำหนดอัตราภาษีเพื่อกำกับความหวาน แต่ถ้า WHO ระบุว่าเป็นอันตราย และห้ามผสมในเครื่องดื่ม ก็ไม่ต้องจัดเก็บภาษี เพราะเป็นสินค้าต้องห้ามไปแล้ว”
ส่วนภาษีความเค็มเป็นการพิจารณาการจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม ซึ่งปัจจุบันกรมยังหารือกับกลุ่มแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยังไม่มีสินค้าในพิกัดที่ระบุชัดเจนว่าจะเก็บภาษีได้ ดังนั้น ต้องดูว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรที่คนไทยบริโภคมากและมีโซเดียม ซึ่งอาจต้องเพิ่มพิกัดใหม่ และการพิจารณามาตรฐานวัดโซเดียมด้วยว่า คนหนึ่งคนไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินวันละเท่าไร เป็นหลักในการเก็บภาษี
“คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 กรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าค่ามาตรฐานที่แพทย์แนะนำ คือ 2,000 กรัมต่อคนต่อวัน กรมจึงสนใจเก็บภาษีความเค็ม ขอย้ำว่า ไม่ได้เก็บภาษีทุกสินค้า แต่จะพิจารณาเป็นรายการ และจะจัดเก็บจากโรงงานผลิต ส่วนอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง คงจัดเก็บไม่ได้ โดยวิธีการจัดเก็บภาษี คือ โซเดียมสูง เก็บอัตราแพง โซเดียมต่ำ จัดเก็บต่ำ และกำหนดเป็นขั้นบันได คาดจะเริ่มจากสินค้าอุตสาหกรรม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”.