ยิ่งยากจนยิ่งเพิ่มความเสี่ยง สถิติ-ยูนิเซฟเผยปี 65 คนไทยพิการเพิ่มขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยิ่งยากจนยิ่งเพิ่มความเสี่ยง สถิติ-ยูนิเซฟเผยปี 65 คนไทยพิการเพิ่มขึ้น

Date Time: 9 ส.ค. 2566 08:08 น.

Summary

  • สำนักงานสถิติและยูนิเซฟเปิดผลสำรวจความพิการปี 2565 ไทยมีคนพิการ 4.19 ล้านคน เพิ่มจากผลสำรวจปี 60 ที่ 3.69 ล้านคน พบยิ่งจน–ยิ่งพิการ โดยครัวเรือนที่ยากจนที่สุด มีคนพิการอยู่ในครัวเรือนสูงสุดที่ 10.6% ขณะที่ครัวเรือนร่ำรวยมากมีคนพิการน้อยที่สุดที่ 3.1% โควิดยังทำให้คนพิการที่มีงานทำลดลงเหลือ 21.2%

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สำนักงานสถิติและยูนิเซฟเปิดผลสำรวจความพิการปี 2565 ไทยมีคนพิการ 4.19 ล้านคน เพิ่มจากผลสำรวจปี 60 ที่ 3.69 ล้านคน พบยิ่งจน–ยิ่งพิการ โดยครัวเรือนที่ยากจนที่สุด มีคนพิการอยู่ในครัวเรือนสูงสุดที่ 10.6% ขณะที่ครัวเรือนร่ำรวยมากมีคนพิการน้อยที่สุดที่ 3.1% โควิดยังทำให้คนพิการที่มีงานทำลดลงเหลือ 21.2%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2565” ซึ่งเป็นการสำรวจระดับประเทศจัดทำเป็นทุก 5 ปี โดยการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2565 เป็นครั้งที่ 5 เก็บข้อมูลจาก 88,273 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565

โดยนางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายหรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การทำงาน การบริการด้านสาธารณสุข การขึ้นทะเบียนคนพิการ การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และสวัสดิการอื่นๆจากภาครัฐ

ทั้งนี้ ในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 4.19 ล้านคน หรือ 6% ของประชากรทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในปี 2560 หรือ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวนคนพิการ 3.69 ล้านคน หรือ 5.5% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ โดยคนพิการตามคำนิยามของการสำรวจประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ผู้พิการอันเนื่องจากความลำบากหรือปัญหาสุขภาพเท่านั้น มีจำนวน 1.37 ล้านคนหรือ 2% 2.ผู้พิการอันเนื่องจากมีลักษณะความบกพร่องเท่านั้น จำนวน 900,000 คนหรือ 1.3% 3.ผู้พิการที่มีทั้ง 2 ลักษณะ (ความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่องมี 1.91 ล้านคนหรือ 2.7%)

เมื่อพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนพบว่ายิ่งครัวเรือนยากจนก็จะยิ่งมีคนพิการมากขึ้น โดยในปี 2565 ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมาก มีผู้พิการสูงที่สุดคือ 10.6% ขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยมากมีผู้พิการน้อยที่สุดที่ 3.1% แสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่ ความสามารถในการเข้าถึงบริการ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความพิการและเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงพื้นที่พบว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้พิการเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกภาค โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้พิการสูงเท่ากันที่ 7.4% เพิ่มขึ้นจาก 7% และ 6.5% ตามลำดับ

ส่วนผลการสำรวจด้านการศึกษาพบว่า ผู้พิการมีแนวโน้มได้รับการศึกษาครอบคลุมมากขึ้นและจบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยผู้พิการอายุ 5 ปีขึ้นไป ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 84.2% ในปี 2560 เป็น 85.9% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ของผู้พิการอยู่ที่ระดับจบประถมศึกษาเท่านั้น โดยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนเหตุผลที่เลิกเรียนมาจากป่วยและพิการจนเรียนไม่ได้, ไม่สนใจและไม่เห็นประโยชน์ที่จะเรียน เป็นต้น

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังทำให้การทำงานของผู้พิการอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงเหลือ 21.2% จาก 23.9% ในการสำรวจปี 2560 โดยในจำนวนผู้พิการที่มีงานทำ พบว่าเกือบครึ่งหรือ 49.2% ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการและการค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจในหัวข้อการได้รับสวัสดิการจากภาครัฐยังพบว่า จำนวนผู้พิการที่เข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐมีอัตราสูง 99.1% ในปี 2565 เทียบกับ 98.5% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการขึ้นทะเบียนคนพิการนั้น พบว่ามีผู้พิการ 42.6% เท่านั้นที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการ ที่เหลือ 57.4% ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการด้วยสาเหตุหลากหลาย ได้แก่ ไม่ต้องการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะคนชราซึ่งคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนพิการ, มีความพิการที่ไม่อยู่ในระดับที่ขึ้นทะเบียนได้, เข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนคนพิการ เป็นต้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟยังได้ร่วมกันเสนอแนวทางเชิงนโยบาย เพื่อช่วยให้ผู้พิการดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างยั่งยืน ได้แก่

1. การส่งเสริมผู้พิการให้มีการศึกษาสูงขึ้น เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพมีหลักประกันทางสังคม รวมทั้งต้องส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ ทำให้พึ่งพาตัวเองได้

2.การส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพในการทำงานเพื่อให้โอกาสในการประกอบอาชีพ โดยขอความร่วมมือหรือสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนให้จ้างงานผู้พิการมากขึ้น

3.การอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงบริการตรวจรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยจัดหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่ให้บริการผู้พิการถึงบ้านหรือชุมชน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อเนื่อง

4.การสนับสนุนอุปกรณ์ อวัยวะเทียมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้า แว่นตาที่ตัดพิเศษ รถนั่งคนพิการ และไม้เท้า 3 ขา รวมทั้งควรเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ

5.การสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และช่วยให้รู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ