นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตั้งแต่เดือน ต.ค.65-ก.ค.66 ว่า กระทำผิด 1,812 คดี เงินค่าปรับ 38.84 ล้านบาท แยกเป็น 1.สุรา 870 คดี ค่าปรับ 8.56 ล้านบาท ยึดของกลาง 13,664.513 ลิตร 2.ยาสูบ 641 คดี ค่าปรับ 18.37 ล้านบาท ของกลาง 154,305 ซอง 3.ไพ่ 18 คดี ค่าปรับ 0.45 ล้านบาท ของกลาง 2,257 สำรับ 4.น้ำมันและผลิตภัณฑ์ 164 คดี ค่าปรับ 6.64 ล้านบาท ของกลาง 704,982 ลิตร 5.น้ำหอม 7 คดี ค่าปรับ 0.56 ล้านบาท ของกลาง 1,766 ขวด 6.รถจักรยานยนต์ 68 คดี ค่าปรับ 1.60 ล้านบาท 77 คัน 7.สินค้าอื่นๆ 44 คดี ค่าปรับ 2.66 ล้านบาท
“สินค้าเหล่านี้หากเล็ดลอดไปได้จะสร้างความเสียหายมาก ทั้งในเรื่องความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต รวมถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน หากทราบเบาะแส แจ้งสายด่วน 1713 หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ หรืออีเมล excise_hotline@excise.go.th โดยกรมจะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส”
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า วันที่ 1 ต.ค.66 สหภาพยุโรปจะทดลองใช้มาตรการปรับลดคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) สินค้า 7 ชนิด ได้แก่ อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆ เช่น นอตและสกรูเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตโดยการนำเข้าสินค้า 7 ชนิด ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือการซื้อและส่งมอบใบรับรองการปรับลดคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ตามปริมาณปล่อยก๊าซในการผลิตที่อาจกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ส่วนสหรัฐฯกำลังผลักดันมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนเช่นกัน
“นโยบายกรมจากนี้คือสินค้าอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะเก็บภาษีสูงขึ้น สินค้าที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะลดภาษีให้ หรืออาจไม่เก็บภาษีเลย ที่ผ่านมากรมลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า ลงเหลือ 2% จาก 8% และเตรียมลดภาษีสรรพสามิตเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (ไบโอพลาสติก) ซึ่งจะเทียบเคียงกับอัตราจัดเก็บเอทานอลที่นำมาผสมในน้ำมันที่ปัจจุบันเก็บ 6 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีนำเข้าเก็บ 80 บาทต่อลิตร ล่าสุดยกร่างเป็นกฎกระทรวงแล้วรอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ”.